GoogleBlog "Art & Philosophy : ศิลปะกับปรัชญา"

เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียนเสมือน (Virtual Classroom) เพื่อใช้เสริมการเรียนการสอน รายวิชา 437-222 สุนทรียศาสตร์ (Aesthetics)

จัดทำโดย อาจารย์อันธิฌา ทัศคร
ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

เอกสารประกอบการสอนปรัชญาชีวิต

นักศึกษาสามารถดูการนำเสนอในชั้นเรียนวิชาปรัชญาชีวิต
ส่วนของอ.อันธิฌา ทัศคร ตั้งแต่ต้นเทอม ซึ่งเป็นเนื้อหาของบทที่ 1 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับปรัชญา
ในรูปของไฟล์ .pdf ได้ ที่ link ต่อไปนี้ค่ะ

ดาวน์โหลดเอกสารประกอบปรัชญาชีวิต

ดาวน์โหลดเอกสารประกอบปรัชญาชีวิต

คะแนนวิชา 437-101 ปรัชญาชีวิต


*หมายเหตุ
ตุรงค์ฤทธิ์ ส่งงานครบแล้ว คะแนนรวมคือ 80.5 ได้เกรด A ค่ะ

**ด่วน!! แจ้งข่าวเรื่องคะแนน

ส่งงานที่ค้างของวิชาต่อไปนี้ได้ภายในวันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม 2550 นี้เท่านั้น
1) 437-101 ปรัชญาชีวิต
2) 437-428 ปรัชญาเกาหลีและญี่ปุ่น
3) 438-327 ศาสนาในจีน เกาหลี และญี่ปุ่น
หากใครส่งงานแล้วแต่ยังไม่มีคะแนน ให้ติดตามโดยด่วน
หลังจากวันที่ 5 ไปแล้ว จะถือว่าคะแนนที่ปรากฏเป็นคะแนนที่สมบูรณ์
โดยจะไม่มีการแก้ไขใดๆทั้งสิ้น

การส่งงาน
ที่ตู้รับจดหมายของอาจารย์อันธิฌา ชั้นสอง คณะมนุษยศาสตร์ฯ
หรือ อีเมล์ anticha-s@bunga.pn.psu.ac.th
(ระบุชื่อวิชาและชื่อนศ.ด้วย)

วิชา 438-425 สัมมนาปัญหาศาสนา จะนำผลคะแนนรวม100 คะแนน+เกรด มาโพสในวันที่ 6 ต.ค. นี้ค่ะ

คะแนนวิชา 438-425 สัมมนาปัญหาศาสนา ส่วนของอ.อันธิฌา 50%

คะแนนวิชา 437-428 ปรัชญาเกาหลีและญี่ปุ่น


คะแนนวิชา 438-327 ศาสนาในจีน เกาหลีและญี่ปุ่น


แจ้งผลคะแนนรายวิชาที่สอนโดย อ.อันธิฌา 1/50

นักศึกษาตามรายวิชาต่อไปนี้ สามารถดูผลคะแนนและเกรด (อย่างไม่เป็นทางการ)
ในเว็บบล็อกได้ใน วันพุธ ที่ 3 ตุลาคม เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป

(1) 438-327 Religions in Chaina Korea and Japan
(2) 437-428 Korean and Japanese Philosophy

หากใครต้องการสอบถามเพิ่มเติม (เรื่องการส่งงาน หรือคะแนน)
สามารถส่งอีเมล์มาหาอาจารย์หรือโพสไว้ที่ความคิดเห็นของประกาศนี้ค่ะ
*หากเป็นกรณีเร่งด่วน สามารถดูวิธีติดต่ออาจารย์ซึ่งติดไว้ที่หน้าห้องทำงานค่ะ

แจ้งข่าวเรื่อง "ติวเนื้อหา ชินโต เซน และพุทธศาสนามหายาน"

ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ไม่ว่าคุณจะเรียนปรัชญาหรือศาสนา ถ้าต้องการรวมกลุ่มติวเนื้อหาปรัชญา/ศาสนา กลุ่ม ชินโต พุทธศาสนานิกายเซน และมหายาน

มาเจอกันที่ข้างห้องสมุดจอห์น เอฟฯ (ตึกเก่า)
ในวันจันทร์ที่ 17 เวลา 19.30 น. - 21.00 น.
โดยในวันจันทร์จะเริ่มติวเรื่องชินโตก่อน (อ่านบทความข้างล่างด้วยก็ดีนะคะ)

เตรียมคำถามที่สงสัย และ อย่าลืมเอาเอกสาร/ชีตของตัวเองมาด้วย(สมุด ปากกา ยางลบ ขนม อาหารการกินตามสะดวก แต่ต้องเอามาเผื่ออาจารย์ด้วย)จะไปช่วยติวให้ก่อนสอบค่ะ...
อย่าพลาด!!! โอกาสดีมีหนเดียว

*ใหม่ล่าสุด เอกสารประกอบการเรียนเรื่อง "ชินโต"


สามารถอ่านบทความเรื่อง "ชินโต : ศาสนาแห่งความงาม ธรรมชาติ ความรักและความศรัทธา"

เขียนโดยอาจารย์อันธิฌา ทัศคร ได้ในเว็บบล็อกนี้นะคะ ต้องการอ่านฉบับเต็ม


วัฒนธรรมทางความคิดของประเทศญี่ปุ่น เป็นผลมาจากความเชื่อความศรัทธาในศาสนาและปรัชญาสามกลุ่มหลัก ได้แก่ ขงจื๊อ พุทธศาสนา และชินโต[1] ญี่ปุ่นรับเอาลัทธิขงจื๊อมาจากประเทศจีนโดยตรง พุทธศาสนาแม้จะมีรากฐานมาจากประเทศอินเดียแต่พุทธศาสนาที่เผยแพร่มาถึงญี่ปุ่นเป็นรูปแบบที่ได้รับการผสมผสานกับปรัชญาเต๋าและถูกปรับเปลี่ยนจากประเทศจีนมาก่อนแล้ว ส่วนชินโตนั้นกล่าวได้ว่าเป็นทรัพย์ทางปัญญาที่ถือกำเนิดในดินแดนญี่ปุ่นเอง สำหรับศิลปะ แม้จะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในวงวิชาการว่าพุทธศาสนานิกายเซนได้ให้อิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะแขนงต่างๆของประเทศนี้ แต่การเว้นที่จะกล่าวถึงชินโต อันเป็นปรัชญาความเชื่ออีกกระแสหนึ่งซึ่งแฝงอยู่ในวิถีคิดของชาวญี่ปุ่นควบคู่กัน คงจะทำให้การกล่าวถึงศิลปะญี่ปุ่นไม่ครบถ้วนรอบด้านเท่าที่ควร

ผู้เขียนตั้งใจจะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับชินโตและศิลปะ โดยแบ่งบทความออกเป็นสองตอนซึ่งแต่ละตอนจะจบสมบูรณ์ในตัวเอง ในบทความนี้ถือเป็นตอนแรกซึ่งจะนำเสนอประวัติความเป็นมาของชินโต ความสำคัญของลัทธินี้ที่เราสามารถพบเห็นร่องรอยหลักฐานได้ในทุกสิ่งทุกอย่างของความเป็นญี่ปุ่น แม้ในปัจจุบันสิ่งที่กล่าวมาก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปนัก และในฉบับต่อไปจะนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างปรัชญาความคิดชินโตที่ส่งผ่านไปสู่งานศิลปะ รวมถึงลักษณะเด่นของงานศิลปะที่อยู่ภายใต้อิทธิพลแนวคิดแบบชินโตค่ะ...
[1] โจเซฟ แกร์, 2522, หน้า 96.

กิจกรรมถามตอบเรื่องพุทธศาสนานิกายเซน

วิชาศาสนาในจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ภาคการศึกษาที่ 1/50
คำถามทั้งหมดมี 12 ข้อ ดังนี้ค่ะ
(1) "ซาโตริ" กับ "การตรัสรู้" เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
(2) การฝึกฝนของเซนจะบรรลุธรรมได้ ผู้ฝึกฝนต้องมีคุณสมบัติอย่างไร และถ้ามีคุณสมบัติครบถ้วนแล้วจะช่วยให้สามารถบรรลุธรรมได้อย่างไร
(3) การที่ศิษย์ได้ทำการมอนโด (ถาม-ตอบ) กับอาจารย์หรือกับศิษย์ด้วยกันเองนั้น เป็นการกระทำเพื่ออะไร
(4) คุณลักษณะแห่งเซนมีสี่ข้อ มีข้อไหนที่สำคัญที่สุด เพราะเหตุใดจึงสำคัญที่สุด
(5) ด้วยเหตุใดมรรควิถีของเซนจึงไม่ได้อาศัยคัมภีร์หรืออิงกับคำสอนที่ตายตัว
(6) แก่นแท้ของเซนคืออะไร
(7) ในคำกลอนที่กล่าวว่า " หมายความว่าอย่างไร
(8) โตกุซัน ตรัสรู้ได้อย่างไร
(9) ประสบการณ์แห่งเซนคืออะไร
(10) ทำไมชาวญี่ปุ่นจึงให้การยอมรับนับถือนิกายเซนเป็นอย่างสูง
(11) รหัสนัยมีความหมายว่าอย่างไร
(12) จุดมุ่งหมายของเซนคืออะไร

- - อ่านรายละเอียดคลิกที่นี่ค่ะ - -

กระทู้แนะนำ - เรียนเอาเกรด หรือ เรียนเอาความรู้?


หลังจากสอบเสร็จ... แล้วก็มานึกกับตัวเอง ว่านี่คือ หนทางของการเรียนรู้จริงหรือ
----------------------------------------------------------
ย้อนไปเมื่อ 10 ชม. ก่อน ขณะที่กำลังเร่งอ่านหนังสืออย่างเร่งรีบ เพราะต้องสอบในอีกไม่กี่ชั่วโมง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ที่เริ่มเรียนวิชานี้มาไม่เคยคิดจะอ่านหนังสือเลยสักครั้ง พอถึงห้องสอบ ก็ประมวลความคิดรวบยอด จากสมองอันน้อยนิด เขียนคำตอบให้ตรงประเด็น ชัดเจนที่สุด ส่งข้อสอบ
-----------------------------------------------------------
หลังจากสอบเสร็จเวลาผ่านไปไม่กี่นาที ตระหนักว่า เหมือนตัวเองทำข้อสอบได้ แต่ไม่ใช่เพราะความอัจฉริยะของตัวเอง แต่เพราะอ่านๆจำๆมาสอบ แล้วข้อสอบก็ออกมาตามที่อ่าน ซึ่งเป็นอย่างนี้มาตลอด เป็นเหมือนกันทุกวิชา เนื่องจากข้อสอบก็ถามมาตรงๆ แล้วเจ้าก็สาธยายมาเถิด มันอาจเป็นความผิดพลาดของอาจารย์หรือเปล่าที่ออกข้อสอบตรงเกินไป หรือระบบการศึกษาของประเทศไทยที่ยังไม่เน้นการคิดวิเคราะห์ หรือตัวเราเองที่ไม่กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้อย่างจริงจัง ทำให้การเรียนในมหาวิทยาลัยเหมือนเรียนเอาเกรด ไม่ได้เรียนเอาความรู้ เพราะไม่มีความรู้อะไรเท่าไหร่ในสมอง เพราะทันทีที่สอบเสร็จ สิ่งที่อ่านมาก็ค่อยๆเลือนลบไปจากสมอง เพราะเป้าหมายของการทำข้อสอบ คือ ได้คะแนนดีๆ เพื่อให้ได้เกรดดีๆ เมื่อสอบเสร็จแล้วที่อ่านมาจึงไม่จำเป็นอีกต่อไป หลังจากสอบจึงเห็นกองชีท ยับยู่ยี่ กองสุมกันอย่างไร้ค่า ทั้งที่ก่อนหน้านี้ราวกับว่ามันเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ช่วยฉุดให้นักศึกษาเหล่านี้ขึ้นจากการจมน้ำ
-----------------------------------------------------------
กลับมาสู่คำถาม นี่คือ หนทางของการเรียนรู้จริงหรือ เหมือนจิตสำนึกบอกเราว่า ไม่ใช่ และกำลังทำผิดมหันต์ กำลังจมสู่ทรายดูด และคนอื่นก็อาจโดนดูดจนมิดหัวไปแล้ว ด้วยเวลาที่อยู่ในรั้วมหาลัยมาครึ่งกับอีกค่อน คาดเดาได้ว่าเมื่อเรียนจบมาคงเกิดอาการ "โหวง" โหวง ว่า แท้จริงแล้วตัวเรานั้นไม่รู้อะไรเลย ไม่เก่งอะไรเลย ทำอะไรเป็นอะไรเลย และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะทำอย่างไรกับชีวิตที่เหลืออยู่
-----------------------------------------------------------
ขอต้อนรับสู่วงจร เกาะพ่อแม่กิน
อ่านกระทู้นี้ - - คลิกที่นี่ - -

กระทู้แนะนำ : สาขาปรัชญาเรียนจบแล้ว ไปทำงานอะไรได้มั่งครับนอกจากเป็นอาจารย์


ใครสงสัย มีคำถามแบบนี้อยู่ในใจ ใคร่ได้คำตอบ แนะนำไปอ่านกระทู้นี้ค่ะ - - คลิกอ่านกระทู้ที่นี่ - -

เด็กไม่มีศาสนา ฤๅจะเป็นทางออกยุค...หมดศรัทรา

หนุ่มน้อยวัย 22 ปี "เบิร์ด" นักศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่ง ที่เปิดอกคุยว่า "ผมไม่มีศาสนาครับ" เบิร์ดขยายความต่อถึงที่มาที่ไปและความคิดที่ทำให้เขาอยู่ในกลุ่มนี้ว่า ในโลกนี้มีศาสนาหลายศาสนา รวมถึงลัทธิต่างๆ ถ้าเรานับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง นั่นหมายความว่า ศาสนาที่เหลือไม่ดีหรืออย่างไร นั่นจึงทำให้เบิร์ดคิดว่า ศาสนาก็เป็นเพียงวัฒนธรรมหนึ่ง เป็นเพียงหลักปรัชญาในการดำเนินชีวิต ที่ช่วยให้คนเราสามารถดำรงอยู่ภายใต้ความถูกต้องของสังคม อ่านบทความ>>
เชิญร่วมแสดงความคิดเห็นกับบทความนี้ค่ะ

ทำไมจึงต้องใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง อ่านพระบรมราโชวาทเรื่อง "การใช้ภาษาไทย"

พระบรมราโชวาท

'ท่านทูตคงกลุ้มใจว่า คนที่ไปอยู่ต่างประเทศเพียงไม่กี่วันหรือไม่นาน กลับมาพูดภาษาไทยไม่ได้ เพราะว่านึกว่าไปต่างประเทศนั้น ต้องไปเรียนรู้ความเป็นไม่เป็นไทย ดังนั้นก็เห็นใจท่าน เพราะว่าท่านเป็นทูต คนที่ไปต่างประเทศไม่กี่วัน แล้วก็ไปพบกับท่านทูต พูดภาษาไทยไม่ได้ แต่ว่าต่างประเทศ ฝรั่งไปพบท่านมาเมืองไทยไม่นาน กลับไปพูดภาษาไทยได้ อันนี้ก็ชอบกล ประหลาดมาก แต่ว่าต้องเข้าใจว่าคนที่ไม่ได้ไปต่างประเทศ แต่ก็ได้มีโอกาสไปต่างประเทศ เขามีปมด้อย คนไทยนั้นส่วนใหญ่ไม่มีปมด้อย ที่เห็นคนไทยมีความภูมิใจที่เป็นคนไทย เพราะว่าอยู่เมืองไทย เป็นคนไทย เขาสามารถศึกษาว่าเมืองไทย คนไทยมีความดี แต่ผู้ที่ไปต่างประเทศนึกว่า เราก็พูดอย่างเดียวกับพวกที่ไปเมืองฝรั่ง ไม่ใช่พวกที่ไปเมืองแขกหรือว่าเมืองจีน เพราะว่าเห่อว่าฝรั่งเขาเจริญ เพราะบ้านเมืองของเขามีความก้าวหน้าหลายอย่าง คนไทยก็เลยมีปมด้อย ว่าเราไม่มีความเจริญ ปัญหาที่เกิดขึ้นว่าจะทำอย่างไร สำหรับแก้ไข ก็เล่าให้ท่านฟังแล้วว่า ข้าพเจ้ามาเมืองไทยไม่รู้ภาษาไทย แล้วก็ออกไป อายุ 5 ขวบ กลับมาอายุ 11 ก็ไม่ค่อยรู้ภาษาไทย ที่จริงรู้ภาษาไทยก็โดยที่ สมเด็จพระบรมราชชนนี ท่านไม่พูดภาษาฝรั่งกับเรา ท่านพูดภาษาไทย ก็เลยรู้ภาษาไทย แต่เขียนภาษาไทยไม่ค่อยได้ อ่านไม่ค่อยได้ ตอนอายุ 11 ก็ได้เรียน จนกระทั่งอายุ 18 ก็เขียนภาษาไทย อ่านภาษาไทยไม่ค่อยได้ มาอ่านภาษาไทยได้ทีหลัง แต่ก็อยู่ที่ความเป็นไทยนี่ลำบาก ก็พยายามที่จะเรียนภาษาไทย
แต่ผู้ที่ไปหาท่านทูตแล้วพูดภาษาไทยไม่ชัด ส่วนใหญ่เขาก็รู้ภาษาไทย ออกไป2-3วันลืมภาษาไทยแล้ว เพราะว่าเป็นคนที่ไม่ศึกษา วิธีที่จะทำท่านทูตก็คงต้องล้างสมองเขา ประเทศไทยมีภาษาไทยมานานแล้ว มีวัฒนธรรมไทยนานกว่าต่างประเทศในยุโรปหลายประเทศ ก่อนนี้ในต่างประเทศ เป็นยุคที่เขาเรียกว่ามิดเดิ้ลเอจ (middle age) เป็นยุคกลาง ยุคที่ไม่เจริญ เมืองไทยนี้ ยุคกลางของเราเจริญแล้ว ถ้าอยากจะให้แก้ไข เราก็ต้องศึกษายุคกลางของเราว่าเจริญแล้ว แล้วบอกกับพวกที่คิดว่าเมืองไทยไม่เจริญให้เข้าใจ แล้วก็ที่ประเทศไทยมีภาษาไทย มีตัวอักษรไทยมาตั้งแต่สมัยที่เป็นยุคกลางของฝรั่ง ของเราหลายร้อยปีมีภาษา มีตัวอักษร ของฝรั่งไม่มี เราไม่พูดถึงอเมริกา แอฟริกา แต่พูดถึงยุโรปซึ่งเป็นประเทศที่เจริญ แต่ตอนนั้นไม่ได้เจริญ เราเจริญก่อน แต่ว่าเมืองไทยจะไม่เจริญ เพราะมีคนอย่างพวกที่ไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าเมืองไทยเจริญมานานแล้ว... อ่านบทความ>>

สุนทรียทัศน์ในการมองชีวิต บทบันทึกเพื่อการแสวงหาแง่มุมที่งดงามของชีวิต


เหตุเกิดเนื่องจากในชั่วโมงเรียนวิชาปรัชญาชีวิตสัปดาห์ที่ผ่านมา นักศึกษาได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความประทับใจในชีวิตกันในห้องเรียน... และพวกเราสัญญากันว่าจะนำเอาเรื่องราวเหล่านั้นมาเก็บเป็นความทรงจำดีๆไว้ในเว็บบล็อกนี้
ไปเจอกันได้ที่นี่ค่ะ http://dee-ngam.blogspot.com/
หรือไปที่เมนูหลักด้านซ้ายมือ ดูที่ "สุนทรียทัศน์ในการมองชีวิต" ได้เลย
อยากรู้จักน้องทาทาของอาจารย์ เข้าไปอ่านกันได้ค่ะ...

ปัดฝุ่น…พาคุณเปิดโลกแห่งปรัชญา แนะนำหนังสือ "โลกของโซฟี"


ในภาวะสังคมปัจจุบัน ที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว มนุษย์ส่วนใหญ่ต่างตั้งเป้าหมายในการดำเนินชีวิตไว้เพียงแค่การได้ไปอยู่บนจุดที่สูงสุด เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากวงสังคม แต่จะมีใครเคยลองคิดไหมว่า นั่นคือหน้าที่ที่ถูกบัญชามาให้ปฏิบัติในฐานะมนุษย์จริงหรือ? และอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต?
เชื่อว่าคงมีมนุษย์ส่วนน้อยที่จะตั้งคำถามขึ้นกับตัวเอง เพราะหลายๆ คนอาจจะไม่เคยสนใจในคำตอบของอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่ปฏิบัติตนตามกระแสหรือกรอบที่ตั้งเอาไว้ในยุคสมัยเพียงเท่านั้น “โลกของโซฟี” จึงเป็นหนังสือที่อยากหยิบขึ้นมาปัดฝุ่น เพื่อหวังให้ผู้อ่านพยายามหยุดก้าวไปข้างหน้าเพียงสักระยะ แล้วลองมานับถอยหลังกลับไปดื่มด่ำในประวัติศาสตร์ของจิตใจมนุษย์ เพื่อหาคำตอบแห่งชีวิต เผื่อคำตอบต่างๆ ที่ได้รับรู้ อาจจะเป็นสิ่งที่วิเศษสุดในการก้าวสู่อนาคตของคุณก็เป็นได้
“เส้นทางจินตนาการสู่ประวัติศาสตร์ปรัชญา” ข้อความโปรยในหน้าแรกของวรรณกรรมเยาวชนที่ชื่อ “โลกของโซฟี” บ่งบอกถึงแนวทางของหนังสือเล่มนี้ไว้อย่างชัดเจน จากความยาวกว่า 500 หน้านี้ จะช่วยย้อนประวัติศาสตร์แห่งปรัชญาเมื่อ 2,500 ปีก่อน เพื่อแสวงหาคำตอบของการใช้ชีวิต

ความคิดแบบสากลนิยมกับการตัดสินเชิงสุนทรียภาพ (Universalism and Aesthetic Judgment)


อันธิฌา แสงชัย. "ความคิดแบบสากลนิยมกับการตัดสินเชิงสุนทรียภาพ." นิตยสารไฟน์อาร์ต ปีที่ 4 ฉบับที่ 28 (มกราคม 2550), หน้า 42-44.


ใน Fine Art เล่มที่แล้ว เราได้พูดคุยกันถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการตัดสินเชิงสุนทรียภาพ ในแบบที่เรียกว่า Aesthetic Relativism หรือการตัดสินเชิงสุนทรียภาพแบบสัมพัทธ์นิยม ซึ่งมองว่าการตัดสินเชิงสุนทรียภาพไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะหรือความงาม ล้วนเป็นสิ่งที่อิงกับบริบทเฉพาะต่างๆ ณ ขณะที่ทำการตัดสิน เช่น ตัวผู้ตัดสิน วัฒนธรรม ช่วงเวลา และความสัมพันธ์กันบสิ่งอื่นๆอีกไม่อาจประมาณนับ ดังนั้นมันจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีเกณฑ์การตัดสินเพียงเกณฑ์เดียว แต่สำหรับเล่มนี้อยากจะชวนพูดคุยถึงทฤษฎีหนึ่งที่สำคัญยิ่งและเห็นในด้านที่ขัดแย้งกับกลุ่มสัมพัทธ์นิยม นั่นก็คือความคิดแบบ สากลนิยม (Universalism) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่มองว่าการตัดสินเชิงสุนทรียภาพนั้นมีโครงสร้างเป็นสากลค่ะ... อ่านต่อสามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ค่ะ

สุนทรียศาสตร์ ศาสตร์แห่งสุนทรียะ

ข้อมูลทางบรรณานุกรม:
อันธิฌา แสงชัย. "สุนทรียศาสตร์ ศาสตร์แห่งสุนทรียะ." นิตยสารไฟน์อาร์ต ปีที่ 1 ฉบับที่ 7 (กรกฎาคม 2547), หน้า 50-52.

เราคงคุ้นเคยกับคำว่า “สุนทรียศาสตร์” กันพอสมควร ในวงวิชาการศิลปะ อาจารย์หรือนักศึกษาศิลปะก็มักใช้คำคำนี้เมื่ออธิบายความคิดความรู้สึกบางอย่างในงานศิลปะอยู่เสมอ แต่คุณเคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่าบริบทของคำว่าสุนทรียศาสตร์และขอบเขตความหมายของคำๆนี้คืออะไรกันแน่ มันเหมือน แตกต่าง หรือเกี่ยวข้องกับศิลปะอย่างไร ในคราวนี้เราจึงจะมาค้นหาว่าคำนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรและควรจะใช้มันในความหมายใด

ในหนังสือ Contextualizing Aesthetics: From Plato to Lyotard ซึ่งเขียนโดย Gene H. Blocker และ Jennifer M. Jeffers ได้แบ่งการจัดระบบสาระสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ของสุนทรียศาสตร์แบบประเพณีไว้สามช่วงเวลาคือ ยุคก่อนสุนทรียศาสตร์ (Pre-aesthetic), ยุคสุนทรียศาสตร์ (Aesthetic) และยุคหลังสุนทรียศาสตร์ (Postaesthetic) ซึ่งยุคสมัยทั้งสามนั้นเทียบได้กับช่วงเวลาของ ก่อนสมัยใหม่ (Premodern), สมัยใหม่ (Modern), และหลังสมัยใหม่ (Postmodern) นั่นเอง ช่วงเวลา ก่อนสมัยใหม่ (Premodern period) ในปรัชญากรีกหรือปรัชญาคริสต์ ทฤษฎีสุนทรียศาสตร์กระจัดกระจายแทรกอยู่ในหัวข้อปรัชญาต่างๆ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับความดี ความรักและความสมบูรณ์ เป็นต้น ไม่ได้มีระบบในการตั้งคำถามหรือการสืบค้นหาคำตอบที่เป็นแนวทางเฉพาะของตัวเองอย่างอิสระ ปัญหาเกี่ยวกับความดี ความงาม และความจริงไม่ถูกแยกแยะจากกันให้ชัดเจนแต่มักจะอธิบายรวมกันในฐานของคุณค่าเชิงอุดมคติที่สูงส่งที่สุดอันหนึ่งคำว่า “สุนทรียศาสตร์” ในความหมายที่ใช้กันในปัจจุบันและทฤษฎีทางสุนทรียศาสตร์ถูกสร้างให้เป็นระบบเป็นครั้งแรกในต้นศตวรรษที่ 18 จากการแบ่งแยกขอบเขตการสืบค้นทางปรัชญาในอังกฤษและเยอรมัน ซึ่งเป็นความพยายามที่จะแบ่งแยกปัญหาเชิงปรัชญาว่าด้วยความงามออกจากปัญหาอื่นๆให้ชัดเจนเป็นครั้งแรก

เหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความสนใจอย่างจริงจังในสุนทรียศาสตร์และนำมาซึ่งการแบ่งแยกเป็นปรัชญาสาขาหนึ่งนั้น คือการพัฒนาก้าวหน้าของทฤษฎีศิลปะที่เกิดการจัดหมวดหมู่งานศิลปะเข้าไว้ในกลุ่มต่างๆประเภทเดียวกัน เช่น จิตรกรรม กวีนิพนธ์ ประติมากรรม ดนตรี และการเต้นรำ หรือเกิดการแบ่งแยกจัดประเภทศิลปะบริสุทธิ์ (Pure art) ขึ้น จึงกล่าวได้ว่าปัญหาทางสุนทรียศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องศิลปะและความงาม รวมถึงประสบการณ์ทางสุนทรียะหรือแนวทางในการรับรู้ศิลปะ การรับรู้ความงาม และแนวคิด "ศิลปะเพื่อศิลปะ" เองก็เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันในวัฒนธรรมสมัยใหม่นี้เอง

คำว่า "Aesthetics" ถูกใช้เป็นครั้งแรกในงานเขียนชื่อ Reflections of Poetry (1735) ของ อเล็กซานเดอร์ เบามว์การ์เทน (Alexander Baumgarten, 1714-1762) นักปรัชญาชาวเยอรมัน เบาว์มการ์เทนใช้คำนี้ในฐานะที่เป็นการศึกษาเชิงปรัชญาเกี่ยวกับความรู้ของมนุษย์ ซึ่งแยกออกจากทฤษฎีความรู้หรือญาณวิทยา (Epistemology หรือ Theory of knowledge เป็นสาขาหนึ่งของปรัชญาที่ศึกษาเกี่ยวกับความรู้ของมนุษย์ เช่น ความรู้คืออะไร มนุษย์รู้ได้อย่างไร และเราสามารถรู้ความจริงได้หรือไม่เป็นต้น) ซึ่งเป็นความรู้ในเชิงเหตุผล

สุนทรียศาสตร์ แยกตัวเองออกมาจากญาณวิทยาโดยพยายามศึกษาประสบการณ์ทางความรู้สึก ซึ่งเชื่อมโยงกับอารมณ์และจิตใจ และศึกษาความคิดนามธรรมด้วยวิธีการทางตรรกะ

ผลงานของเบาว์มการ์เทนส่งผลให้ทฤษฎีความรู้ที่เคยมีมาถูกแบ่งประเภท เขาสร้างแนวทางซึ่งเปิดโอกาสให้การวิเคราะห์ทางสุนทรียะศาสตร์โดยตัวของมันเองมีความเป็นไปได้มากขึ้น แนวคิดของเขาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือทำให้โลกแห่งประสบการณ์และการรับรู้ของมนุษย์ถูกแยกออกเป็นสองแนวทาง ซึ่งมีความแตกต่างกันตั้งแต่ระดับมูลฐาน คือแบ่งเป็นประสบการณ์เชิงตรรกะ (logical experience) ที่เป็นการรับรู้ผ่านกระบวนการทางเหตุผล และประสบการณ์เชิงสุนทรียะ (aesthetic experience) ที่เป็นการรับรู้ผ่านกระบวนการของอารมณ์ความรู้สึกประสบการณ์ทั้งสองแบบเป็นพื้นฐานที่ทำให้เกิดแนวคิดและการปฎิบัติต่อสิ่งต่างๆแตกต่างกันไป ประสบการณ์เชิงตรรกะ เป็นรูปแบบที่เรียบง่ายและพื้นฐานที่สุดที่เราพบได้ เช่น การคิดตามลำดับเหตุการหรือการเข้าใจเหตุผล ประสบการณ์ชนิดอื่นที่นอกเหนือไปจากประสบการณ์ทางสุนทรียะ ล้วนแต่มองสิ่งที่เป็นวัตถุหรือความหมายทางนามธรรมตรงที่เนื้อหาทางอรรถประโยชน์เป็นสำคัญทั้งสิ้น แต่ประสบการณ์ทางสุนทรียะไม่ได้มุ่งไปที่คุณประโยชน์ของวัตถุ การมองอย่างมีสุนทรียะนั้นเป็น “การรับรู้เพื่อการรับรู้” (perceive for perceiving's sake) หรือ “รับรู้สิ่งต่างๆอย่างที่มันเป็น” (perceiving for its own sake) ยกตัวอย่างง่ายๆในกรณีนี้ถ้านาย ก รับรู้และมีประสบการณ์กับที่ดินแปลงหนึ่งโดยคำนึงถึงราคาหรือการใช้ประโยชน์และนาย ข รับรู้และมีประสบการณ์กับที่ดินแปลงเดียวกันต่างออกไป เขามองไปยังที่ดินแปลงนั้นสัมผัสรับรู้ถึงความร่มรื่นความสงบหรือเพลิดเพลินกับคุณค่าที่มีในตัวของมันเอง กรณีนี้นาย ก จึงมีประสบการณ์เชิงตรรกะและนาย ข มีประสบการณ์เชิงสุนทรียะ

ปัญหาที่สำคัญที่สุดปัญหาหนึ่งของสุนทรียศาสตร์ได้รับผลจากการแบ่งแยกโลกแห่งการรับรู้ของมนุษย์คือปัญหาเกี่ยวกับความงาม “ความงาม” และ “ศิลปะ” ได้ถูกนิยามในกรอบของประสบการณ์ทางสุนทรียะซึ่งแยกออกไปจากประสบการณ์อย่างอื่น คุณสมบัติของความงาม และคุณสมบัติที่ทำให้วัตถุใด “เป็น” หรือ “ไม่เป็น” ศิลปะ จึงขึ้นอยู่กับการรับรู้ของมนุษย์ และไม่ใช่คุณสมบัติเชิงวัตถุวิสัยในตัววัตถุเองอย่างทฤษฎีก่อนหน้านี้หลายๆทฤษฎีได้อธิบายเอาไว้การแบ่งแยกประเภทของการรับรู้ของมนุษย์ นอกจากจะส่งผลดังที่กล่าวมา มันยังทำให้ปัญหาทางสุนทรียะศาสตร์มีท่าทีต่างออกไปอีกด้วย แนวโน้มของปัญหาจึงมีลักษณะมุ่งวิเคราะห์มโนทัศน์และการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างพิจารณาวัตถุทางสุนทรียะโดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับปัญหาอื่นอย่างศีลธรรม การเมืองหรือศาสนา ปัญหาของสุนทรียศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 จึงมีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับมโนทัศน์ของประสบการณ์ทางสุนทรียะ (aesthetic experience) และวัตถุทางสุนทรียะ (aesthetic object) เป็นประเด็นสำคัญ จึงสรุปได้อย่างสั้นๆว่า

สุนทรียศาสตร์ คือ ชื่อที่ใช้เรียกการศึกษาเชิงปรัชญา (การสืบค้นหรือวิทยาศาสตร์) ของศิลปะและความงามตามธรรมชาติ” (Gene H. Blocker)

การศึกษาทางสุนทรียศาสตร์ จึงครอบคลุมวัตถุต่างๆทั้งศิลปะและความงามตามธรรมชาติ รวมถึงกระบวนการรับรู้หรือประสบการทางสุนทรียะของมนุษย์ที่มีต่อวัตถุต่างๆเหล่านั้น โดยมีระเบียบแบบแผนในการศึกษาวิเคราะห์อย่างเป็นขั้นตอนเช่นเดียวกับการวิธีการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์

แล้วสุนทรียศาสตร์กับศิลปะเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

"ศิลปะ” เป็นศาสตร์ที่ศึกษากระบวนการสร้างสรรค์ที่เริ่มต้นตั้งแต่การคิด การรู้สึกตอบสนอง การถ่ายทอดผ่านสื่อ จนมีผลสำเร็จเป็นผลงานศิลปะ (works of art) ในการศึกษากระบวนการสร้างสรรค์ดังกล่าวมีทฤษฎีหรือหลักการเช่น ทฤษฎีเกี่ยวกับสี การวางองค์ประกอบ การใช้พื้นที่ว่าง และรวมถึงเทคนิควิธีการต่างๆ ในการสร้างสรรค์งานศิลปะ เช่น การใช้สีน้ำมัน การหล่อทองเหลือง การปั้นดิน การพิมพ์ภาพพิมพ์แกะไม้เป็นต้น งานศิลปะจึงเป็นผลผลิตที่ผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ ซึ่งผลผลิตนั้นมีลักษณะทางสุนทรียะ และต้องทำขึ้นจากสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกมีสำนึก (sentient beings) ซึ่งหมายถึงต้องทำขึ้นโดยมนุษย์เท่านั้นปัญหาของศาสตร์ทางศิลปะ จึงเป็นปัญหาในเชิงกระบวนการสร้างสรรค์ เช่น ศิลปินควรจะเลือกสื่อวัสดุชนิดใด หรือใช้รูปแบบทางศิลปะแบบใด จึงจะสามารถแสดงออกหรือถ่ายทอดความรู้สึก หรือเนื้อหาที่ต้องการได้ดีที่สุดทฤษฎีสุนทรียศาสตร์ สามารถเป็นแนวทางให้ปรัชญาศิลปะที่ศึกษาเกี่ยวกับความคิดว่าด้วยศิลปะหรือความคิดที่ปรากฏอยู่ในงานศิลปะได้ ในทำนองเดียวกันปัญหาทางสุนทรียศาสตร์หลายๆประเด็นก็เป็นปัญหาของปรัชญาศิลปะเช่นกัน ปัญหาของปรัชญาศิลปะไม่อาจแยกออกจากเนื้อหาของสุนทรียศาสตร์ได้ ปรัชญาศิลปะจึงเป็นส่วนหนึ่งของสุนทรียศาสตร์นั่นเอง อย่างไรก็ตามปรัชญาศิลปะไม่สนใจปัญหาบางประการของสุนทรียศาสตร์ เช่น วัตถุตามธรรมชาติวัตถุใดที่เป็นหรือไม่เป็นวัตถุทางสุนทรียะ คือปัญหาสำคัญอันหนึ่งทางสุนทรียศาสตร์แต่อยู่นอกเหนือขอบเขตของปรัชญาศิลปะ เพราะปรัชญาศิลปะไม่พยายามอธิบายวัตถุที่ไม่ใช่ศิลปะ ข้อจำกัดของปรัชญาศิลปะในแง่นี้เป็นข้อจำกัดของขอบเขตการศึกษาซึ่งนักสุนทรียศาสตร์อธิบายถึงบริบทโดยทั่วไปของวิชานี้ในทำนองเดียวกันว่า “ปรัชญาศิลปะมีขอบเขตแคบกว่าสุนทรียศาสตร์ เนื่องจากปรัชญาศิลปะมุ่งพิจารณาเฉพาะมโนทัศน์และปัญหาที่เกิดขึ้นในการเชื่อมต่อของผลงานศิลปะกับสิ่งอื่นๆ…การแสดงออกเชิงศิลปะคืออะไร มีความจริงในผลงานศิลปะหรือไม่ สัญลักษณ์เชิงศิลปะคืออะไร สิ่งที่ผลงานศิลปะทำนั้นหมายถึงอะไร มีนิยามทั่วไปของศิลปะหรือไม่ อะไรทำให้งานศิลปะนั้นดี คำถามทั้งหมดนี้เป็นคำถามของสุนทรียศาสตร์ มีพื้นที่ของมันเองในขอบข่ายของศิลปะ และไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อเรามุ่งพิจารณาวัตถุทางสุนทรียะอื่นๆนอกเหนือจากงานศิลปะ” (John Hospers)

กล่าวได้ว่าปรัชญาศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาสุนทรียศาสตร์ แต่มีขอบเขตในการศึกษาที่แคบกว่า และมุ่งสนใจวิเคราะห์เกี่ยวกับศิลปะ แต่มิได้ครอบคลุมถึงสิ่งที่ไม่ใช่ศิลปะ

และทั้งสุนทรียศาสตร์และปรัชญาศิลปะ ก็เป็นคำตอบสำเร็จรูปให้แก่มโนทัศน์ทางศิลปกรรมศาสตร์ แต่ทั้งสองก็ไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาเชิงกระบวนการสร้างสรรค์ทางศิลปะ เช่น การค้นคว้าหาเทคนิคในการวาด การปั้น การพิมพ์ ที่แปลกใหม่สร้างสรรค์ หรือวิธีการที่สามารถสร้างผลงานศิลปะให้ตอบสนองหรือสื่อสารความคิดความรู้สึกของศิลปินออกมาได้ดีที่สุด ซึ่งเป็นปัญหาหลักของศิลปกรรมศาสตร์ แต่สำหรับสุนทรียศาสตร์กลับสนใจเทคนิควิธีการเหล่านั้นในลักษณะที่ว่ามันทำให้เกิดผลตอบสนองที่เรียกว่า “การมีประสบการณ์ทางสุนทรียะ” และ “ประสบการณ์ทางสุนทรียะเกิดขึ้นได้อย่างไร” เท่านั้น

การวิพากษ์เกี่ยวกับปัญหาเรื่อง “ความงาม” เป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะทำให้เห็นความเกี่ยวเนื่องและความแตกต่างได้อย่างชัดเจน ปัญหาเรื่องความงามในทางสุนทรียศาสตร์นั้นความงามเป็นลักษณะอย่างหนึ่งที่สามารถให้คำอธิบายอย่างเป็นสากลได้ เป็นไปได้ที่จะมีอยู่ในสิ่งทุกสิ่ง ทั้งที่เป็นรูปธรรม นามธรรม หรือสิ่งตามธรรมชาติและสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์ คำตอบเกี่ยวกับความงามในทางสุนทรียศาสตร์จึงเป็นคำตอบที่ถือเป็นมาตรฐานในการตอบปัญหาของความงามทั้งหมดส่วนปัญหาความงามในปรัชญาศิลปะเป็นการค้นหานิยามของความงามในทางศิลปะ เช่น ความงามเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นต่อการเป็นศิลปะหรือไม่ ถ้าศิลปะอาจจะงามหรือไม่งามก็ได้ ความงามจึงไม่ใช่เกณฑ์ที่ดีที่สุดในการตัดสินความเป็นศิลปะ ต้องมีเกณฑ์อื่นที่ดีกว่า และคำถามนี้สำคัญมากสำหรับศิลปะเพราะนำมาซึ่งความสงสัยที่ว่าเกณฑ์อันนั้นคืออะไร และหากไม่มีเกณฑ์ใดเลยที่เหมาะสม เราจะสามารถตัดสินลักษณะของศิลปะได้หรือไม่ ถ้าความงามเป็นคุณลักษณะจำเป็นที่ต้องมีอยู่ในศิลปะ ผลงานชิ้นใดที่ถูกสร้างขึ้นโดยปราศจากความงาม เราก็ไม่อาจกล่าวว่ามันเป็นศิลปะได้ ดังนั้นศิลปะจึงเป็นวัตถุที่มีความงามซึ่งถูกสร้างโดยมนุษย์ แล้วศิลปะหรือวัตถุที่งามนั้นจะอธิบายว่าอย่างไร คำตอบของความงามในปรัชญาศิลปะดังที่กล่าวมา เป็นคำตอบที่ค้นหาความงามซึ่งเกี่ยวข้องกับศิลปะ มุ่งอธิบายในขอบเขตของศิลปะเป็นสำคัญ บางคำตอบที่ได้ อาจจะไม่สามารถนำไปอธิบายสิ่งที่ไม่ใช่ศิลปะเช่นวัตถุในธรรมชาติได้และสำหรับ “ศิลปะ” นั้นรวมเอาปัญหาทางมโนทัศน์และปัญหาทางกระบวนการเข้าด้วยกัน สนใจในปัญหาเชิงกระบวนการและพยายามแก้ปัญหาในขอบเขตของการสร้างสรรค์ศิลปะเป็นสำคัญ มโนทัศน์ทางศิลปกรรมจึงเป็นการหยิบยกคำตอบที่ได้จากปรัชญาศิลปะมาเป็นแนวทางทั้งสิ้น ความงามสำหรับศิลปกรรมศาสตร์จึงเป็นความคิดสำเร็จรูปที่ได้จากสุนทรียศาสตร์และปรัชญาศิลปะ ซึ่งนำเอาความคิดนั้นมาเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์และคำอธิบายที่มั่นคงที่สามารถอ้างถึงได้สำหรับกระบวนการและเป้าหมายของศิลปะนั่นเอง

วะบิ ซะบิ : สุนทรียภาพในงานศิลปะเซน

บทความนี้ตีพิมพ์ในนิตยสาร Fine Art Magazine ปีที่ 4 ฉบับที่ 33


“สำหรับผู้ที่ภาวนาขอให้ดอกซากุระบานนั้น
ข้าพเจ้าปรารถนาจะให้เขาเห็นฤดูใบไม้ผลิ
ที่ส่งแสงออกมาจากหมู่ไม้ ที่มีใบเขียวชอุ่มเป็นหย่อมๆ
ในท่ามกลางหมู่บ้านแถบภูเขาที่มีหิมะปกคลุมเสียจริงๆ”
[1]

บทร้อยกรองข้างต้น เขียนขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 โดยอาจารย์สอนการปรุงน้ำชาผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งของญี่ปุ่น การกล่าวถึงความมีชีวิตชีวาและแรงกระตุ้นของชีวิตที่แทรกซ่อนอยู่ท่ามกลางความเปล่าเปลี่ยวของฤดูหนาวในบทร้อยกรองบทนี้ สะท้อนให้เห็นถึงรสนิยมทางศิลปะบางอย่างที่มักจะปรากฏอยู่เสมอในงานศิลปะของประเทศกลุ่มตะวันออกไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปะประเพณีนิยมของประเทศญี่ปุ่น ที่มักเผยให้เห็นอารมณ์สงบ เงียบ นิ่ง และเรียบง่ายอย่างยิ่ง ซึ่งหลอมรวมเป็นความงดงามแบบล้ำลึกและลึกลับ จนบางครั้งเกือบจะเป็นไปในเชิงขาดแคลน หม่นหมอง และสันโดษวิเวก อันเป็นบุคลิกลักษณะสำคัญของรสนิยมทางศิลปะของชนชาตินี้ ดังประโยคหนึ่งในงานเขียนที่ชื่อ “เยินเงาสลัว” (In Praise of Shadows) ของจุนอิชิโร่ ทะนิสะกิ ที่กล่าวไว้ว่า

“เรา (ชนชาติญี่ปุ่น - ผู้เขียน) มิได้รังเกียจทุกสิ่งที่ทอประกายแวววับ แต่เราสมัครนิยมความเรืองรองอันล้ำลึกมากกว่าความเจิดจ้าอันผิวเผิน ไม่ว่าจะเป็นรัตนมณีหรือสิ่งประดิษฐ์โดยฝีมือมนุษย์ เราพอใจแสงทึมๆ ซึ่งบ่งบอกถึงความสุกใสจากความเก่าแก่”
[2]

และรสนิยมทางสุนทรียภาพรวมทั้งรูปแบบศิลปะที่ถือว่ามีความสำคัญจนสามารถสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่นอย่างยิ่งให้แก่ศิลปวัฒนธรรมของชาวอาทิตย์อุทัยนั้น อาจจะกล่าวได้ว่าไม่มีใดเกิน “ศิลปะเซน” หรือ “ศิลปะฌาน” ซึ่งปรากฏรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์สุ้ง (Sung หรือ Song) ของจีน อันเป็นช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ศิลปะจีนที่ได้รับการยกย่องว่าได้ก่อเกิดพัฒนาการขั้นสูงในงานจิตรกรรม และได้ส่งผ่านเข้ามายังประเทศญี่ปุ่นพร้อมๆกับพระพุทธศาสนานิกายเซนนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา



“ศิลปะเซน” ก็คือศิลปะที่สร้างขึ้นเพื่อถ่ายทอดความรู้สึก ประสบการณ์ หรือเรื่องราวบางอย่างที่อิงอาศัย เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับนิกายเซน โดยมากแล้วมักจะไม่ได้สร้างขึ้นด้วยฝีมือของศิลปินอาชีพ แต่เป็นพระ นักบวช หรือผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในปรัชญาคำสอนของนิกายนี้ จนการวาดภาพกลายเป็นวัตรปฏิบัติประจำวัน เพื่อโน้มนำจิตใจให้สงบมีสมาธิ ดังเช่นรูปวงกลมเอ็นโซ (ensō) ที่ผู้วาดจะนั่งสงบสำรวมให้เกิดสมาธิก่อนจะตวัดพู่กันลงบนกระดาษหรือผ้าไหมอย่างรวดเร็ว เพียงครั้งเดียว กล่าวกันว่า การวาดภาพวงกลมนี้สามารถสะท้อนถึงคุณภาพทางจิตและสมาธิของผู้วาดได้เป็นอย่างดี งานศิลปะจึงเป็นเสมือนภาพสะท้อนของปรัชญาแนวคิดแบบเซนที่ไม่เพียงให้อิทธิพลแก่รสนิยมทางศิลปะเท่านั้น แต่ยังแทรกซึมอยู่ในชีวิตทุกๆด้านของชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกเชิงสุนทรียภาพที่มีต่อสิ่งต่างๆรอบตัวอีกด้วย

ดังที่ปรากฏในชื่อของบทความนี้ “ความรู้สึกเชิงสุนทรียภาพ” (aesthetic sensitivity) สองประการที่มีความสำคัญอย่างสูงในงานศิลปะเซนเรียกเป็นคำภาษาญี่ปุ่นว่า “วะบิ” (Wabi) และ “ซะบิ” (Sabi) ค่ะ


“วะบิ” (wabi) ตามความหมายของคำหมายถึง การบูชาความยากจน ความยากไร้ ขาดแคลน ไม่สมบูรณ์ ความล้าสมัย การหลีกลี้หรือไม่อยู่ในสังคมที่ทันสมัยในช่วงเวลานั้นๆ ความสันโดษ มักน้อย การมีชีวิตที่เรียบง่าย ใกล้ชิดกับธรรมชาติ


ส่วน “ซะบิ” (sabi) ตามความหมายของคำหมายถึง ความโดดเดี่ยว ความวิเวก ความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว ความเงียบงัน สงบนิ่ง นอกจากงานจิตรกรรมแล้ว “ซะบิ” ยังถือเป็นหลักการสำคัญหนึ่งในสี่ข้อของศิลปะการปรุงน้ำชา หรือที่เรียกว่า “ชาโนะยุ” อีกด้วย


วะบิและซะบินั้น อาจจะมีเค้าโครงที่มาจากลักษณะคำสอนของนิกายเซนที่ไม่ได้มุ่งสร้างทฤษฎีหรือระบบคิดที่ยิ่งใหญ่ใดๆ ทั้งยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับวิธีการที่อิงกับระบบตรรกะเหตุผลเช่นที่ลัทธินิกายอื่นๆนิยมกัน แม้ในคำสอนของเซนเองก็มุ่งเน้นไปที่การทำลายความยึดติดในวิธีคิดที่เต็มไปด้วยแบบแผนต่างๆเหล่านั้น ดร.สุสุกิ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนิกายเซนกล่าวว่า “ในชีวิตด้านพุทธิปัญญา (นิกายเซน - ผู้เขียน) ก็มิได้แสวงหาความรุ่มรวยแห่งมโนคติ มิได้แสวงหาความหลักแหลมหรือความขึงขังในการที่จะจัดความคิดให้เป็นระเบียบ และในการสร้างระบบปรัชญาขึ้นมาเลย” (ไดเซตซ์ ที. สุสุกิ, 2518 : 30) ลักษณะของนิกายเซนดังนี้ จึงส่งผ่านมายังรสนิยมทางสุนทรียภาพที่ใฝ่หาความเรียบง่าย สงบ ลดทอน และให้ความสำคัญกับความยากไร้และความไม่สมบูรณ์ไปในที่สุด


นอกจากหลักคำสอน อีกสิ่งหนึ่งที่ส่งอิทธิพลต่อความรู้สึกเชิงสุนทรียภาพแบบ “วะบิ” และ “ซะบิ” คืองานจิตรกรรมในสมัยราชวงศ์สุ้ง ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากปรัชญาแนวคิดแบบเซนเช่นกันและยังถือได้ว่าเป็นยุคทองของจิตรกรรมจีน โดยมากแล้วจิตรกรจีนที่นิยมในหลักคำสอนนิกายเซนหรือลัทธิเต๋าในสมัยราชวงศ์สุ้ง มักจะแสดงออกถึงปรัชญาแนวคิดผ่านทางงานจิตรกรรม โดยมีลักษณะที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบตามประเพณีนิยม แต่กลับมีการแสดงออกอย่างอิสระ ปราศจากกฎเกณฑ์ และเป็นไปอย่างฉับพลันทันใด อันสอดคล้องกับวิถีทางบรรลุธรรมขึ้นสูงแบบฉับพลัน (sudden) ซึ่งเป็นวิถีปฏิบัติที่นำโดยท่านฮุ่ยเน้ง (เว่ยหลาง) สังฆปรินายกผู้นำนิกายเซนทางตอนใต้ของประเทศจีน[3]


สมัยราชวงศ์สุ้ง มีจิตรกรคนสำคัญมากมาย หนึ่งในนั้นคือ หม่าหยวน (Ma Yüan, 1190-1225) ซึ่งที่ได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มของสกุลช่างราชวงศ์สุ้งใต้[4] ลักษณะที่โดดเด่นในงานของศิลปินท่านนี้ คือ การวางองค์ประกอบภาพแบบเน้นมุมใดมุมหนึ่ง ให้เกิดความสมดุลแต่ไม่เท่าเทียมกัน (balance asymmetry) เป็นการเล่นลีลาระหว่าง “ความมี” กับ “ความไร้” “รูปทรง”กับ “พื้นที่ว่าง” แสดงภาพของทิวทัศน์ที่ดูเวิ้งว้าง เปล่าเปลี่ยว โดยมีจุดสนใจเล็กๆที่มุมใดมุมหนึ่ง การวาดภาพของหม่าหยวนมีชื่อเรียกอย่างเฉพาะเจาะจงว่า “จิตรกรรมแบบมุมเดียว” (One Corner Ma : มุมของหม่า) ซึ่งต่อมาภายหลังการเน้นความสำคัญที่มุมใดมุมหนึ่งของภาพ ด้วยการวางภาพอย่างไม่สมดุลหรือไม่ได้สัดส่วนกันขององค์ประกอบในภาพแต่กลับสามารถสร้างความรู้สึกที่พอดีลงตัวได้ ก็กลายเป็นลักษณะสำคัญประการหนึ่งของศิลปะญี่ปุ่น ที่รับอิทธิพลโดยตรงมาจากจิตรกรรมแบบมุมเดียวของหม่าหยวนนี้เองค่ะ


หม่าหยวน และจิตรกรสมัยราชวงศ์สุ้ง ยังได้สร้างกลวิธีการวางภาพตามแนวทางแบบ “พู่กันประหยัด” ซึ่งมีการเขียนเส้นและป้ายสีให้น้อยครั้งที่สุดเท่าที่จะทำได้ อันเป็นอิทธิพลที่รับมาจากการมุ่งเน้นให้เกิดสมาธิเพื่อการบรรลุธรรมขั้นสูงด้วยวิธีแบบฉับพลัน การทำน้อยให้ได้มากเช่นนี้เอง จะปลดปล่อยจิตใจของผู้วาดให้โลดแล่นผ่านปลายพู่กันอย่างมีพลังโดยไม่ประดิดประดอย และได้พัฒนามาเป็นพื้นฐานสำคัญอีกประการหนึ่งของความรู้สึกเชิงสุนทรียภาพแบบญี่ปุ่นในเวลาต่อมา

“ความไม่สมดุล ความไม่ได้สัดส่วน “มุมหนึ่ง” ความยากจน ซะบิ หรือ วะบิ ความง่ายๆ ความโดดเดี่ยว และมโนคติที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน ได้ก่อให้เกิดเป็นลักษณะสำคัญที่เด่นที่สุดและเป็นอัตลักษณ์ของศิลปะและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ทั้งหมดนี้เกิดจากความรู้สึกซึมซาบในสัจธรรมของนิกายเซนที่นับว่าสำคัญยิ่งประการหนึ่งซึ่งเป็น “หนึ่งในสิ่งที่มากหลาย และเป็นสิ่งที่มากหลายในหนึ่ง” หรือถ้าจกกล่าวให้ถูกต้องยิ่งไปกว่านี้ก็ต้องว่า “หนึ่งที่คงเป็นหนึ่งในความมากหลาย ทั้งในแง่ปัจเจกและในแง่แบบรวมๆ” (ไดเซตซ์ ที. สุสุกิ, 2518 : 38)

ในงานจิตรกรรมเซน เราอาจจะเห็นภาพเรือจับปลาลำเล็ก ผุพัง ปราศจากเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยใดๆ ลอยอยู่ท่ามกลางมหาสมุทรเวิ้งว้าง อย่างโดดเดี่ยว หรือ ภาพนักบวช บัณฑิตที่แต่งกายด้วยผ้าเก่าขาดวิ่น สวมหมวกฟางและรองเท้าไม้ ไร้ทรัพย์สินศฤงคารมีค่า ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางวงล้อมของธรรมชาติ เป็นการแสดงถึงคุณธรรมและความงดงามบางอย่างของความไม่สมบูรณ์ ความขาดแคลน ความหมดหวัง แต่ความหมายที่แทรกซ่อนอยู่ในความยากไร้ขาดแคลนนี้ กลับเต็มไปด้วยคุณค่าทางจิตวิญญาณ และความเต็มตื้นจากการสัมผัสรับรู้ถึงธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่รอบตัว ศิลปะญี่ปุ่นและนิกายเซนจึงอยู่ใกล้ชิดกับอารมณ์ความรู้สึกสุนทรียภาพแบบวะบิและซะบิ และเข้าใกล้ความงดงามและสมบูรณ์พร้อมแห่งปัญญาญาณ ดังว่า

“ความไม่สมบูรณ์นี้แหละจะกลายเป็นความสมบูรณ์แบบหนึ่ง เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าความงามไม่จำเป็นจะต้องหมายถึงความสมบูรณ์ของรูปเลย ข้อนี้ได้กลายเป็นกลเม็ดที่นิยมกันมากอย่างหนึ่งของศิลปินญี่ปุ่น นั่นคือในการที่จะใส่ความงามไว้ในรูปที่ไม่สมบูรณ์ หรือแม้แต่รูปที่น่าเกลียด” (ไดเซตซ์ ที. สุสุกิ, 2518 : 31)

นอกจากวะบิและซะบิแล้ว ยังมีความรู้สึกเชิงสุนทรียะที่โดดเด่นในงานศิลปะของเซนอีกสองประการก็คือ “ความอ่อนไหวต่อธรรมชาติและสิ่งรอบข้าง” (Mono no Aware) และ “ยูเง็น” (yūgen) ความงามอย่างลี้ลับและล้ำลึก ที่มักจะปรากฏอยู่ในบทกวีนิพนธ์ บทร้อยกรอง ของญี่ปุ่น อยู่เสมอๆ นักวิชาการบางท่านสันนิฐานว่านอกจากปรัชญาคำสอนทางศาสนาแล้ว สภาพแวดล้อมของภูมิประเทศ คืออีกปัจจัยหนึ่งที่สร้างพื้นฐานให้แก่ความรู้สึกทางสุนทรียภาพของศิลปะเซนซึ่งเป็นรากของวัฒนธรรมทางศิลปะของชนชาติญี่ปุ่นด้วย

“สภาพภูมิประเทศเป็นบ่อเกิดสำคัญในการสร้างสรรค์งานทางด้านศิลปะแขนงต่างๆ ซึ่งรวมทั้งงานทางด้านวรรณกรรมด้วย และธรรมชาติยังมีส่วนกำหนดรสนิยมของคนญี่ปุ่นให้นิยมความเรียบง่าย ความงามอย่างลี้ลับและล้ำลึก และความรู้สึกอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว ซึ่งเป็นผัสสะที่ได้รับจากธรรมชาตินั่นเอง” (พิพาดา ยังเจริญ, 2535 : 7)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามองโดยผิวเผินแล้ว สำหรับโลกสมัยใหม่ใหม่แบบตะวันตก ความรู้สึกเชิงสุนทรียภาพของญี่ปุ่น ทั้งวะบิและซะบินั้น ดูจะเป็นเรื่องของความทุกข์ ความเศร้า เป็นเรื่องที่น่าสงสาร น่าเห็นใจ และไม่ใช่สิ่งที่มีคุณค่าน่ายกย่อง หากลักษณะเช่นนี้เองกลับเป็นท่าทีของโลกตะวันออกซึ่งสอดคล้องกับความคิด ความเชื่อ ปรัชญา และศาสนา ที่ยกย่องคุณค่าภายในและมุ่งสู่ความจริงและความงามบางอย่างที่เหนือไปกว่าโลกแห่งผัสสะจะหามีได้

ผู้เขียนขอจบบทความนี้ ด้วยคำกล่าวของ ดร.สุสุกิ ที่สามารถสรุปใจความสำคัญของเรื่องนี้ไว้ได้เป็นอย่างดีว่า “นิสัยแห่งจิตของเซน คือการทะลุทะลวงรูปทุกชนิดที่มนุษย์ได้ประดิดประดอยขึ้นมา และยึดมั่นอยู่กับสิ่งที่อยู่เบื้องหลังรูปเหล่านั้น ได้ช่วยให้ชาวญี่ปุ่นไม่ลืมบ้านเมืองของตน หากมักชอบทำตัวเป็นมิตรกับธรรมชาติและพอใจกับความง่ายๆที่ไม่มีอะไรมาพ้องพาน” (ไดเซตซ์ ที. สุสุกิ, 2518 : 30) หาก “จิตของเซน” สามารถช่วยให้ชาวญี่ปุ่น “ไม่ลืมบ้านเมืองของตน” แล้วในบ้านเมืองเราตอนนี้ละคะ อะไรจะช่วยให้คนไทยไม่ลืมความเป็นไทยได้บ้าง การให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนา “ประจำชาติ” นั้นจะช่วยได้จริงๆละหรือ? ใครช่วยตอบทีค่ะ

ในโอกาสต่อไปคอลัมน์นี้ยังมีเรื่องราวของศิลปะ ปรัชญา และศาสนา ที่น่าสนใจอีกมากมายที่ผู้เขียนอยากนำมาชวนคิดชวนคุย อย่าลืมติดตามกันนะคะ





บรรณานุกรม
กำจร สุนพงษ์ศรี. (2536). ประวัติศาสตร์ศิลปะจีน. กรุงเทพ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ไดเซตซ์ ที. สุสุกิ. (2518). เซนกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น. จำนงค์ ทองประเสริฐ ผู้แปล. กรุงเทพ:
ราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 1.
พิพาดา ยังเจริญ. (2535). ประวัติอารยธรรมญี่ปุ่น. กรุงเทพ : สมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่นในพระบรม
ราชูปถัมภ์.

ภาพประกอบ
http://www.metmuseum.org


[1] บทกลอนโดย ฟูจิวาระ อิเยทะกะ (ค.ศ. 1158-1237), อ้างใน ไดเซตซ์ ที. สุสุกิ (2518), หน้า 34
[2] จุนอิชิโร ทะนิสะกิ แปลโดยสุวรรณา วงศ์ไวศยวรรณ, อ้างใน พิพาดา ยังเจริญ (2535), หน้า 6
[3] นิกายเซนในประเทศจีนนั้นหลังจากสิ้นพระโพธิธรรม สังฆปรินายกองค์ที่ 1 ในประเทศจีนไปแล้ว ก็แตกออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มทางภาคเหนือซึ่งนำโดยพระภิกษุชาวอินเดียนามว่า พุทธปรียะ ส่วนทางใต้นั้นนำโดยท่านฮุ่ยเน้ง หรือเว่ยหลาง ที่ถือกันว่าท่านเป็นผู้ที่สร้างให้เกิดศาสนาพุทธนิกายฌานแบบจีนอย่างแท้จริงขึ้นมาเป็นครั้งแรก
[4] ราชวงศ์สุ้งของจีนนั้นแบ่งเป็นราชวงศ์ฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ อีกทั้งลักษณะการสร้างงานจิตรกรรมที่มีความแตกต่างกันในรายละเอียด ทำให้มีผลต่อการแบ่งกลุ่มของศิลปินออกเป็นฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ด้วย

ศิลปะการเขียนอักษร (Calligraphy Art)

“ศิลปะการเขียนอักษร” หรือ Calligraphy Art (Shu Fa: 書法) นั้นไม่อาจเว้นที่จะกล่าวถึงเสียได้ หากมีความสนใจในศิลปะกลุ่มตะวันออกไกลโดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปะจีนและญี่ปุ่น เพราะศิลปะแขนงนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ศิลปะลำดับแรกของวัฒนธรรมจีน” (the first art of China: 書 法 素 有 中 國 第 一 藝 術 的 美 稱) เลยทีเดียว

ประเพณีนิยมในงานศิลปะของจีนและญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานศิลปะที่สัมผัสรับรู้ทางสายตา (Visual Arts) นั้น มีลักษณะที่ไม่สามารถแยกประเภทงานจิตรกรรม บทกวี และศิลปะการเขียนอักษรออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด เรามักจะพบว่าทั้งสามสิ่งนี้หลอมรวมอย่างมีเอกภาพอยู่ในผลงานชิ้นเดียวเสมอ หรือจะกล่าวให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น วัฒนธรรมที่ได้ชื่อว่า “วัฒนธรรมแห่งจิตวิญญาณ” (Spiritual Culture) ของชาวตะวันออกนั้น ไม่อาจจะแบ่งแยกกรอบของโลกแห่งความงดงามของศิลปะ และโลกแห่งความจริงของธรรมชาติตลอดจนความเชื่อทางศาสนาออกจากกันได้เลย ศิลปะจีนและญี่ปุ่นแนบชิดสนิทอยู่กับความเชื่ออย่างลึกซึ้งในลัทธิศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เต๋า” และ “เซน” ซึ่งเอื้อต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะจนทำให้ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็น “วัฒนธรรมแห่งศิลปะ” เพราะปรัชญาทั้งสองกระแสนี้สามารถแทรกซึมอยู่ในชีวิตด้านวัฒนธรรมของประชาชนในทุกแง่ทุกมุม[1]

จากภาษาอังกฤษคำว่า Calligraphy หมายถึง “การเขียนที่งดงาม” (beautiful writing) ซึ่งความหมายตามรากศัพท์ของชาวตะวันตก ได้หมายรวมถึงรูปแบบการเขียนอักษรในวัฒนธรรมต่างๆทั่วทั้งโลก แต่ศิลปะการเขียนอักษรของจีนนั้น กล่าวได้ว่า ถูกให้คุณค่าและความหมายอย่างเฉพาะเจาะจงในระดับที่ไปเหนือกว่านั้นมากมายนัก

ศิลปะการเขียนอักษรของจีน เป็นสิ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและให้อิทธิพลแก่วัฒนธรรมเอเชียมาเป็นเวลาช้านาน ในวัฒนธรรมจีนเองอาจจะถือว่าการเขียนอักษรเป็นรูปแบบของศิลปะชั้นสูงที่มีคุณค่ายิ่งกว่างานจิตรกรรมหรือประติมากรรมด้วยซ้ำไป ศิลปะแขนงนี้มักจะถูกจัดให้อยู่ร่วมกับงานกวีนิพนธ์ ซึ่งเชื่อว่าสามารถถ่ายทอดลักษณะส่วนตนและความมีอารยธรรมที่สูงส่งได้ และเรื่องนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดที่น่าสนใจที่ว่า “กระบวนวิธีการเขียน” มีความสำคัญทัดเทียมกับ “เนื้อหาเรื่องราวที่ถูกเขียน”

ในวัฒนธรรมจีนมุ่งหมายให้บุคคลชนชั้น “บัณฑิต” หรือชนชั้นผู้นำ พึงมีความรู้และทักษะพื้นฐานที่สำคัญอยู่สี่ประการ ได้แก่ ศิลปะการเขียนอักษร (Shu: calligraphy) การวาดภาพ (Hua: painting) การดีดพิณหรือดนตรีเครื่องสายต่างๆ (Qin: a string musical instrument) และเกมหมากกระดาน (Qi: a strategic board game) ขนบธรรมเนียมอันนี้สะท้อนให้เห็นว่าศิลปะการเขียนอักษรเป็นทักษะขั้นสูงที่ได้รับการยกย่อง ด้วยเชื่อว่าเป็นแบบแผนทางศิลปะที่มีลักษณะนามธรรมและสูงส่ง (abstract and sublime) สามารถถ่ายทอดความคิดและบุคลิกภาพเฉพาะตนของศิลปินผู้เขียนได้ การเขียนอักษรจึงมีความสำคัญถึงขนาดที่ถูกกำหนดให้เป็นข้อทดสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการ และเนื่องจากลักษณะที่แตกต่างจากศิลปะแบบอื่น เช่น ร่องรอยฝีแปรงเมื่อเขียนตัวอักษรนั้นเป็นไปอย่างฉับพลัน ไม่สามารถแก้ไขได้หากมีการผิดพลาด จึงต้องมีการวางแผนในการเขียนอย่างรัดกุม มีสมาธิ และต้องเขียนลงไปอย่างมั่นใจ ในขณะที่ต้องคำนึงถึงความถูกต้องของโครงสร้างภาษาและคำ แต่เวลาเดียวกันก็มีการแสดงออกซึ่งความรู้สึกอย่างลึกซึ้ง เป็นการฝึกฝนจินตนาการ สัมผัสถึงกฎเกณฑ์ที่ไร้ตัวตน ทั้งยังเป็นการตระหนักรู้ถึงคุณงามความดีอีกด้วย ซึ่งคุณลักษณะที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่คาดหวังให้มีในตัวของผู้ปกครองหรือผู้นำที่มีความสามารถนั่นเอง

ด้วยการควบคุมน้ำหมึก ความหนาบางและการดูดซึมของกระดาษ ความยืดหยุ่นของขนแปรงอย่างมีสมาธิ ศิลปินเขียนอักษร (calligraphers) จึงมีอิสระในการสร้างสรรค์รูปแบบและรูปร่างที่แตกต่างไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งต่างไปจากการเขียนตัวอักษรในโลกตะวันตก ที่มักจะมีการกำหนดรูปแบบตายตัวและมีบุคลิกลักษณะเหมือนๆกัน ที่เป็นเพียงงานฝีมือระดับหนึ่งเท่านั้น หากสำหรับศิลปินเขียนตัวอักษรในโลกตะวันออกแล้ว การเขียนตัวอักษรเป็นการฝึกฝนจิตอย่างหนึ่งซึ่งเป็นการทำงานอย่างสัมพันธ์กันระหว่างจิตกับกาย เพื่อเลือกสไตล์การแสดงออกที่สอดคล้องกับเนื้อหาและความรู้สึกที่ต้องการนำเสนอ มันจึงเป็นการฝึกฝนขั้นสูงที่หลอมรวมเอาลักษณะทางกายภาพและจิตวิญญาณเข้าไว้ด้วยกัน

ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของจีนมีศิลปินเขียนอักษรที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งศิลปะแขนงนี้ไม่เพียงแต่เป็นที่นิยมในชาวจีน เกาหลี และญี่ปุ่นเท่านั้น หากยังเป็นสมบัติที่มีคุณค่า เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติตะวันออกไกลอีกด้วย ในปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาจำนวนมากในประเทศเหล่านี้ที่ยังคงให้ความสำคัญ มีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปฐมวัย และมีการจัดประกวดศิลปะการเขียนอักษรอย่างกว้างขวาง

ศิลปะการเขียนอักษรนั้นแม้จะได้รับการถ่ายทอดในภาษาจีนหรือญี่ปุ่น แต่การไม่รู้ภาษาก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคขัดขวางการรับรู้สุนทรียภาพ ไม่จำเป็นที่ผู้ชมจะต้องรู้ภาษาเหล่านั้น เพราะโดยเนื้อแท้แล้วศิลปะการเขียนตัวอักษรถือได้ว่าเป็นงานศิลปะนามธรรมแบบหนึ่ง หากเราดูภาพวาดนามธรรมของตะวันตก ก็ไม่จำเป็นต้องถามว่า “นี่รูปอะไร” เช่นเดียวกันกับการชื่นชมศิลปะการเขียนอักษร ก็ย่อมไม่จำเป็นต้องถามว่าถ้อยคำเหล่านั้นสื่อถึงเรื่องราวอะไร ความงดงามแบบนามธรรม ถูกสื่อสารออกมาด้วยเส้นสาย จังหวะและโครงสร้าง ที่มีอย่างเพียบพร้อมในงานเขียนอักษรโดยไม่ต่างจากงานจิตรกรรมหรือประติมากรรมแบบนามธรรมอื่นๆเลย
อย่างไรก็ตาม หากจะสัมผัสถึงศิลปะแขนงนี้อย่างลึกซึ้ง ความเข้าใจในที่มาและลักษณะของภาษาเช่นลักษณะของการเขียน และลักษณะของตัวอักษรและการสื่อความหมายก็สามารถช่วยให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงอรรถรสของศิลปะการเขียนอักษรได้ดียิ่งขึ้น

และแม้ว่าศิลปะการเขียนอักษรจะมีการสร้างสรรค์อย่างอิสระ ก็ยังมีผู้ที่พยายามสร้างทฤษฎีที่ชัดเจนอยู่ เช่น ตู้เหมง (Tu Meng) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ถัง หรือในราว ค.ศ. 618-905 ได้พัฒนาทฤษฎีที่ใช้อธิบายถึงรูปแบบของการเขียนอักษรไว้ถึง 120 แบบ ยกตัวอย่างเช่น การแสดงถึงทักษะฝีมือ (ability), ความน่าประหลาดใจ (mysterious), ความระมัดระวัง (careful), ความอิสระไร้กังวล (carefree), ความสมดุล (balance), การไร้ข้อจำกัด (unrestrained), ความเสร็จสมบูรณ์ (mature), ความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว (virile), ความนุ่มนวล (grace), ความจริงจัง (sober), ความมั่นคง (well-knit), การพรรณนา (prolix), ความรุ่มรวย (rich), ความมีชีวิตชีวา (exuberant) และความมีแบบแผน (classic)
[1] ไดเซตซ์ ที. สุสุกิ, จำนงค์ ทองประเสริฐ ผู้แปล, หน้า 26.

ในประเทศจีน เชื่อกันว่าการเขียนอักษรสามารถสะท้อนให้เห็นถึงความคิด อารมณ์ความรู้สึก บุคลิกภาพรวมถึงความสามารถของบุคคลออกมาได้ แม้ในปัจจุบันก็ยังมีการอ่านคนจากลายมืออยู่อย่างแพร่หลาย ตัวอักษรที่ถ่ายทอดบนแผ่นกระดาษหรือผืนผ้าไหม เปรียบเสมือนเครื่องบันทึกการทำงานของร่างกายและจิตใจอย่างละเอียดลออ

ในช่วงเวลาก่อนที่จะมีการค้นพบเทคโนโลยีด้านการพิมพ์ในประเทศจีน งานคัดลอกหนังสือด้วยลายมือมนุษย์ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการบันทึกเรื่องราวและความรู้ต่างๆ การคัดลอกนี้จะทำอย่างประณีต โดยทั่วไปจะร่างขอบของตัวอักษรทีละตัวทีละส่วนแล้วจึงระบายสีลงไปตามโครงร่างนั้น แต่นักคัดลอกที่มีความเชี่ยวชาญจะสามารถคัดลอกลักษณะอาการของตัวอักษรต้นแบบลงไปอย่างอิสระได้ โดยพยายามคงความคล้ายคลึงกับต้นฉบับเดิมให้มากที่สุด

งานเขียนต้นฉบับที่มีชื่อเสียงนั้น มักจะเสียหายไปเป็นจำนวนมากเมื่อผ่านกาลเวลาที่ยาวนานเพราะวัสดุที่ใช้ไม่คงทน เช่น กระดาษ หรือผ้าไหม ผลงานที่เหลือในปัจจุบันจึงเป็นการทำซ้ำเสียเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเทคโนโลยีด้านการพิมพ์ภาพถูกพัฒนาขึ้น จึงเริ่มมีการทำต้นแบบพิมพ์บนแผ่นหินหรือที่เรียกว่าเทคนิค ภาพพิมพ์หิน (engraving) เพื่ออนุรักษ์ผลงานชิ้นสำคัญในประวัติศาสตร์เอาไว้ศึกษาต่อไป ซึ่งผลงานทำซ้ำเหล่านั้นได้รับการยอมรับว่ามีคุณค่าเช่นเดียวกับต้นฉบับจริง
ภาพทำซ้ำเหล่านี้ได้เป็นต้นแบบในการศึกษาศิลปะการเขียนอักษร ผู้ศึกษาจะต้องฝึกคัดลอกผลงานชิ้นเอกของศิลปินที่มีชื่อเสียงในอดีต ทั้งจังหวะและน้ำหนักมือ คัดลอกไปเรื่อยๆจนเกิดความชำนาญ ก่อนที่จะฝึกฝนในขั้นสูงเพื่อพัฒนาในรูปแบบของตนเองต่อไป เช่นเดียวกับวิธีการหัดเขียนลายไทยในบ้านเราที่ต้องคัดลอกตามแบบของครูอาจารย์อย่างเข้มงวดเสียก่อน

ศิลปะการเขียนอักษรจีนนั้น สามารถจำแนกได้เป็นสองเรื่องสำคัญ ได้แก่ วิถีของฝีแปรง (the Brush Methods: 筆法 ) และวิถีของจิต (the Mental Methods: 心法 ) วิถีทั้งสองนี้ต่างสัมพันธ์กันอยู่ในกระบวนการสร้างสรรค์ ในวิถีของฝีแปรงเป็นการแสดงออกซึ่งทักษะความชำนาญจนสามารถเคลื่อนไหวมือ แขนและพู่กันไปอย่างอิสระ และในวิถีของจิตจะเกิดขึ้นจากสมาธิ กล่าวกันว่าหากฝึกฝนด้านใดด้านหนึ่งแล้ว ก็จะเกิดการพัฒนาในอีกด้านหนึ่งไปพร้อมๆกันด้วย

การเขียนอักษรในความหมายของการฝึกฝนจิต เป็นไปโดยมีเป้าหมายเพื่อแสดงออกถึงความงดงามภายในจิตวิญญาณซึ่งถูกหลอมรวมกับความสามารถและทักษะในการแสดงออก วิธีการฝึกฝนนี้มีความสำคัญเพราะเชื่อว่าสามารถยกระดับมนุษย์ในทุกๆด้าน และทำให้ชีวิตเกิดความสมดุล ลักษณะเช่นนี้จึงเป็นการเชื่อมโยงให้ศิลปะสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับความคิดความเชื่อทางศาสนาได้อย่างกลมกลืน

“ศิลปินย่อมใช้หนทางแห่งศิลปะและสุนทรียภาพในการเข้าถึงความจริง เข้าสู่เต๋า เข้าสู่เซน อันเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงบำรุงสรรพสิ่ง ศิลปินทางตะวันออกได้ใช้หนทางแห่งความงามในการเข้าถึงสิ่งนี้ เขาย่อมไปพ้นจากวิธีการ รูปทรง รูปแบบ และความเหมือนใดๆ เขาย่อมไปพ้นจากขอบเขตอันจำกัดรัดรึงของรูปทรงและรูปแบบ หากดำเนินเข้าสู่ต้นกำเนิดของมันโดยตรง” (พจนา จันทรสันติ, หน้า 254)

ที่กล่าวมาเป็นภาพกว้างๆเกี่ยวกับศิลปะการเขียนตัวอักษร ซึ่งมีความสำคัญมากในศิลปะประเพณีนิยมกลุ่มตะวันออกไกล สำหรับท่วงท่าของศิลปะแขนงนี้ ในบทความที่ชื่อ “เต๋ากับศิลปะการวาดภาพ”[1] อาจารย์พจนา จันทรสันติ ได้บรรยายถึงท่วงท่าเคลื่อนไหวของพู่กันได้อย่างงดงามในเชิงวรรณศิลป์ แม้จะยาวไปสักหน่อยแต่ผู้เขียนขออนุญาตยกมาและเป็นบทส่งท้ายบทความนี้ไปพร้อมกัน เพราะจะหาใครที่พรรณนาถึงอาการร่ายรำพู่กันได้งดงามจนเห็นภาพเช่นนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลยค่ะ

“เมื่อความงามได้ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อพลังการสร้างสรรค์ได้พุ่งทะยานขึ้นถึงขีดสูงสุด ศิลปินย่อมกลายเป็นผู้สร้างสรรค์เสียเอง ตัวเขาเองคือธรรมชาติผู้สร้างสรรค์ เขาย่อมจับพู่กันขึ้น ทั้งมือและพู่กันกลายเป็นสิ่งๆเดียวกันที่ไม่อาจแยกจากกันได้ พลังการสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ของจักรวาลล้วนรวมอยู่ที่ปลายพู่กัน พู่กันของเขายิ่งใหญ่กว่าขุนเขา สงบยิ่งกว่าพื้นดิน อ่อนโยนกว่าสายลม และใสกว่าธารน้ำ ปลายพู่กันตวัดลงบนแผ่นกระดาษและผืนไหมอย่างเต็มไปด้วยพลัง เคลื่อนที่ไปตามวิถีทางอันเร้นลับที่ถูกชักนำจากภายใน ปลายพู่กันจรดลงไปบนกระดาษ ลากไปอย่างช้าๆปลายขนแผ่ออกกดกระแทกลงไปเป็นเส้นหนาหนัก ลากไปอย่างช้าๆแต่หนักหน่วง พู่กันหยุดยั้ง ตวัดผ่านไปอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง เส้นขาด บางเบา ขนที่ปลายพู่กันคล้ายดั่งสิ่งไร้สสาร หุบเล็กแล้วแผ่ออก เป็นไปดังใจปรารถนา พู่กันเคลื่อนไปด้วยหลัก “ต่อเนื่องและชะลอหยุดยั้ง” บางครั้งเคลื่อนไหว ลางครั้งหยุด บางครั้งแผ่ออก บางครั้งหดเล็กเข้า บางครั้งหนา บางครั้งเบา บางครั้งมืดทึบ บางครั้งแผ่วจาง ลากจากซ้ายไปขวา จากขวามาซ้าย เลื่อนขึ้นไปสูง ดิ่งลงสู่เบื้องต่ำ เส้นแต่ละเส้นในภาพเปี่ยมไปด้วยพลัง เต็มไปด้วยอานุภาพแห่งความงามและการสร้างสรรค์ เส้นบางเส้นมีระดับหมึกอยู่สามระดับ ห้าระดับ เจ็ดระดับ บางเส้นขาด บางเส้นต่อเนื่อง บางเส้นนุ่ม บางเส้นแข็ง บ้างก็เป็นจุดแต้ม เป็นลีลาแท้ๆของธรรมชาติที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นเป็นความงามและมีชีวิต เส้นแต่ละเส้นทรงพลังและเปี่ยมล้นด้วยความงาม จุดแต่ละจุดยิ่งใหญ่เทียมเท่าจักรวาล การวาดรูปเป็นไปด้วยตัวเอง ดั่งสายน้ำไหล มิหยุดยั้งขาดตอน ลีลาของมันประสานสอดคล้องและกลมกลืนดังการหมุนของโลก ดังการเคลื่อนคล้อยของจักรวาล เป็นหนึ่งเดียวที่ปราศจากการแบ่งแยก ปลายพู่กันบางครั้งหดเล็กเท่าปลายเข็ม บางครั้งแผ่ขยายออกจนสุดโลก จิตใจที่ว่างของศิลปินได้เข้าถึงสัจธรรม ไปพ้นจากขอบเขตใดๆ กว้างขวางและปราศจากอุปสรรคใดๆ ผลงานของเขาจึงยิ่งใหญ่ ในขณะที่การสร้างสรรค์เข้มข้นถึงขีดสุด เขาได้เข้าถึงความเป็นอมตะและนิรันดร ไปพ้นจากขอบเขตของกาลเวลาและสถานที่ เป็นอกาลและอเทศะ สุนทรียภาพได้ปรากฏออกมาเป็นผลงานทางศิลปะอันสูงค่าและอมตะ สิ่งนี้ปราศจากวิธีการ หากดำเนินตามทางของเต๋าอันยิ่งใหญ่ ปราศจากผู้กระทำ ปราศจากผู้สร้าง เป็นธรรมชาตินั้นเองที่ได้สร้างสรรค์งานนี้ขึ้น นกก็ปรากฏขึ้นเป็นนก ดอกหญ้าก็เป็นดอกหญ้า บริสุทธิ์และสูงส่ง ดำรงอยู่ในสภาพเดิมแท้โดยไม่มีใครไปแตะต้องให้เป็นราคี ผลงานของเขาเป็นผลจากการเข้าถึงสัจธรรม…”(พจนา จันทรสันติ, หน้า 245-246)


บรรณานุกรม
จำนงค์ ทองประเสริฐ ผู้แปล, เซนกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น แปลจาก Zen and Japanese Culture
โดย Daisetz T. Suzuki, กรุงเทพ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2518.
พจนา จันทรสันติ ผู้แปลและเรียบเรียง, วิถีแห่งเต๋า, กรุงเทพ: เคล็ดไทย, 2537.

**ภาพและข้อมูลในบทความนำมาจากแหล่งข้อมูลดังต่อไปนี้ ซึ่งผู้เขียนขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วย ท่านที่สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้โดยตรงค่ะ
http://www.art-virtue.com/
http://www.asiawind.com/
http://www.chinapage.org/
http://www.chineseart.net/
[1] พจนา จันทรสันติ, วิถีแห่งเต๋า, หน้า 239-276.

ติดต่อกับผู้เขียน

หากอยากส่งข้อความมาพูดคุยกัน หรือแลกเปลี่ยนความเห็นเพิ่มเติมกับผู้เขียนได้โดยตรง
สามารถติดต่อได้ดังต่อไปนี้ค่ะ
E-mail: anticha-s@bunga.pn.psu.ac.th

หรือที่

ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 94000
.......

แนะนำเว็บบล็อก

สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บบล็อก Art and Philosophy
ศิลปะกับปรัชญา ผู้เขียนจัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่งานเขียนเกี่ยวกับศิลปะและปรัชญา
ซึ่งมีทั้งที่เขียนขึ้นเอง งานแปล และคัดมาจากเว็บไซต์สาธารณะแห่งอื่นๆ

หากผู้อ่านท่านใดมีข้อเสนอแนะ ส่งมาพูดคุยกันได้ตลอดเวลาค่ะ
สามารถแสดงความเห็นของท่านได้ที่พื้นที่แสดงความเห็นด้านล่างนี้นะคะ
หรือดูรายละเอียดได้ที่ "ติดต่อกับผู้เขียน" ค่ะ