GoogleBlog "Art & Philosophy : ศิลปะกับปรัชญา"

เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียนเสมือน (Virtual Classroom) เพื่อใช้เสริมการเรียนการสอน รายวิชา 437-222 สุนทรียศาสตร์ (Aesthetics)

จัดทำโดย อาจารย์อันธิฌา ทัศคร
ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ศิลปะการเขียนอักษร (Calligraphy Art)

“ศิลปะการเขียนอักษร” หรือ Calligraphy Art (Shu Fa: 書法) นั้นไม่อาจเว้นที่จะกล่าวถึงเสียได้ หากมีความสนใจในศิลปะกลุ่มตะวันออกไกลโดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปะจีนและญี่ปุ่น เพราะศิลปะแขนงนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ศิลปะลำดับแรกของวัฒนธรรมจีน” (the first art of China: 書 法 素 有 中 國 第 一 藝 術 的 美 稱) เลยทีเดียว

ประเพณีนิยมในงานศิลปะของจีนและญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานศิลปะที่สัมผัสรับรู้ทางสายตา (Visual Arts) นั้น มีลักษณะที่ไม่สามารถแยกประเภทงานจิตรกรรม บทกวี และศิลปะการเขียนอักษรออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด เรามักจะพบว่าทั้งสามสิ่งนี้หลอมรวมอย่างมีเอกภาพอยู่ในผลงานชิ้นเดียวเสมอ หรือจะกล่าวให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น วัฒนธรรมที่ได้ชื่อว่า “วัฒนธรรมแห่งจิตวิญญาณ” (Spiritual Culture) ของชาวตะวันออกนั้น ไม่อาจจะแบ่งแยกกรอบของโลกแห่งความงดงามของศิลปะ และโลกแห่งความจริงของธรรมชาติตลอดจนความเชื่อทางศาสนาออกจากกันได้เลย ศิลปะจีนและญี่ปุ่นแนบชิดสนิทอยู่กับความเชื่ออย่างลึกซึ้งในลัทธิศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เต๋า” และ “เซน” ซึ่งเอื้อต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะจนทำให้ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็น “วัฒนธรรมแห่งศิลปะ” เพราะปรัชญาทั้งสองกระแสนี้สามารถแทรกซึมอยู่ในชีวิตด้านวัฒนธรรมของประชาชนในทุกแง่ทุกมุม[1]

จากภาษาอังกฤษคำว่า Calligraphy หมายถึง “การเขียนที่งดงาม” (beautiful writing) ซึ่งความหมายตามรากศัพท์ของชาวตะวันตก ได้หมายรวมถึงรูปแบบการเขียนอักษรในวัฒนธรรมต่างๆทั่วทั้งโลก แต่ศิลปะการเขียนอักษรของจีนนั้น กล่าวได้ว่า ถูกให้คุณค่าและความหมายอย่างเฉพาะเจาะจงในระดับที่ไปเหนือกว่านั้นมากมายนัก

ศิลปะการเขียนอักษรของจีน เป็นสิ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและให้อิทธิพลแก่วัฒนธรรมเอเชียมาเป็นเวลาช้านาน ในวัฒนธรรมจีนเองอาจจะถือว่าการเขียนอักษรเป็นรูปแบบของศิลปะชั้นสูงที่มีคุณค่ายิ่งกว่างานจิตรกรรมหรือประติมากรรมด้วยซ้ำไป ศิลปะแขนงนี้มักจะถูกจัดให้อยู่ร่วมกับงานกวีนิพนธ์ ซึ่งเชื่อว่าสามารถถ่ายทอดลักษณะส่วนตนและความมีอารยธรรมที่สูงส่งได้ และเรื่องนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดที่น่าสนใจที่ว่า “กระบวนวิธีการเขียน” มีความสำคัญทัดเทียมกับ “เนื้อหาเรื่องราวที่ถูกเขียน”

ในวัฒนธรรมจีนมุ่งหมายให้บุคคลชนชั้น “บัณฑิต” หรือชนชั้นผู้นำ พึงมีความรู้และทักษะพื้นฐานที่สำคัญอยู่สี่ประการ ได้แก่ ศิลปะการเขียนอักษร (Shu: calligraphy) การวาดภาพ (Hua: painting) การดีดพิณหรือดนตรีเครื่องสายต่างๆ (Qin: a string musical instrument) และเกมหมากกระดาน (Qi: a strategic board game) ขนบธรรมเนียมอันนี้สะท้อนให้เห็นว่าศิลปะการเขียนอักษรเป็นทักษะขั้นสูงที่ได้รับการยกย่อง ด้วยเชื่อว่าเป็นแบบแผนทางศิลปะที่มีลักษณะนามธรรมและสูงส่ง (abstract and sublime) สามารถถ่ายทอดความคิดและบุคลิกภาพเฉพาะตนของศิลปินผู้เขียนได้ การเขียนอักษรจึงมีความสำคัญถึงขนาดที่ถูกกำหนดให้เป็นข้อทดสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการ และเนื่องจากลักษณะที่แตกต่างจากศิลปะแบบอื่น เช่น ร่องรอยฝีแปรงเมื่อเขียนตัวอักษรนั้นเป็นไปอย่างฉับพลัน ไม่สามารถแก้ไขได้หากมีการผิดพลาด จึงต้องมีการวางแผนในการเขียนอย่างรัดกุม มีสมาธิ และต้องเขียนลงไปอย่างมั่นใจ ในขณะที่ต้องคำนึงถึงความถูกต้องของโครงสร้างภาษาและคำ แต่เวลาเดียวกันก็มีการแสดงออกซึ่งความรู้สึกอย่างลึกซึ้ง เป็นการฝึกฝนจินตนาการ สัมผัสถึงกฎเกณฑ์ที่ไร้ตัวตน ทั้งยังเป็นการตระหนักรู้ถึงคุณงามความดีอีกด้วย ซึ่งคุณลักษณะที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่คาดหวังให้มีในตัวของผู้ปกครองหรือผู้นำที่มีความสามารถนั่นเอง

ด้วยการควบคุมน้ำหมึก ความหนาบางและการดูดซึมของกระดาษ ความยืดหยุ่นของขนแปรงอย่างมีสมาธิ ศิลปินเขียนอักษร (calligraphers) จึงมีอิสระในการสร้างสรรค์รูปแบบและรูปร่างที่แตกต่างไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งต่างไปจากการเขียนตัวอักษรในโลกตะวันตก ที่มักจะมีการกำหนดรูปแบบตายตัวและมีบุคลิกลักษณะเหมือนๆกัน ที่เป็นเพียงงานฝีมือระดับหนึ่งเท่านั้น หากสำหรับศิลปินเขียนตัวอักษรในโลกตะวันออกแล้ว การเขียนตัวอักษรเป็นการฝึกฝนจิตอย่างหนึ่งซึ่งเป็นการทำงานอย่างสัมพันธ์กันระหว่างจิตกับกาย เพื่อเลือกสไตล์การแสดงออกที่สอดคล้องกับเนื้อหาและความรู้สึกที่ต้องการนำเสนอ มันจึงเป็นการฝึกฝนขั้นสูงที่หลอมรวมเอาลักษณะทางกายภาพและจิตวิญญาณเข้าไว้ด้วยกัน

ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของจีนมีศิลปินเขียนอักษรที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งศิลปะแขนงนี้ไม่เพียงแต่เป็นที่นิยมในชาวจีน เกาหลี และญี่ปุ่นเท่านั้น หากยังเป็นสมบัติที่มีคุณค่า เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติตะวันออกไกลอีกด้วย ในปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาจำนวนมากในประเทศเหล่านี้ที่ยังคงให้ความสำคัญ มีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปฐมวัย และมีการจัดประกวดศิลปะการเขียนอักษรอย่างกว้างขวาง

ศิลปะการเขียนอักษรนั้นแม้จะได้รับการถ่ายทอดในภาษาจีนหรือญี่ปุ่น แต่การไม่รู้ภาษาก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคขัดขวางการรับรู้สุนทรียภาพ ไม่จำเป็นที่ผู้ชมจะต้องรู้ภาษาเหล่านั้น เพราะโดยเนื้อแท้แล้วศิลปะการเขียนตัวอักษรถือได้ว่าเป็นงานศิลปะนามธรรมแบบหนึ่ง หากเราดูภาพวาดนามธรรมของตะวันตก ก็ไม่จำเป็นต้องถามว่า “นี่รูปอะไร” เช่นเดียวกันกับการชื่นชมศิลปะการเขียนอักษร ก็ย่อมไม่จำเป็นต้องถามว่าถ้อยคำเหล่านั้นสื่อถึงเรื่องราวอะไร ความงดงามแบบนามธรรม ถูกสื่อสารออกมาด้วยเส้นสาย จังหวะและโครงสร้าง ที่มีอย่างเพียบพร้อมในงานเขียนอักษรโดยไม่ต่างจากงานจิตรกรรมหรือประติมากรรมแบบนามธรรมอื่นๆเลย
อย่างไรก็ตาม หากจะสัมผัสถึงศิลปะแขนงนี้อย่างลึกซึ้ง ความเข้าใจในที่มาและลักษณะของภาษาเช่นลักษณะของการเขียน และลักษณะของตัวอักษรและการสื่อความหมายก็สามารถช่วยให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงอรรถรสของศิลปะการเขียนอักษรได้ดียิ่งขึ้น

และแม้ว่าศิลปะการเขียนอักษรจะมีการสร้างสรรค์อย่างอิสระ ก็ยังมีผู้ที่พยายามสร้างทฤษฎีที่ชัดเจนอยู่ เช่น ตู้เหมง (Tu Meng) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ถัง หรือในราว ค.ศ. 618-905 ได้พัฒนาทฤษฎีที่ใช้อธิบายถึงรูปแบบของการเขียนอักษรไว้ถึง 120 แบบ ยกตัวอย่างเช่น การแสดงถึงทักษะฝีมือ (ability), ความน่าประหลาดใจ (mysterious), ความระมัดระวัง (careful), ความอิสระไร้กังวล (carefree), ความสมดุล (balance), การไร้ข้อจำกัด (unrestrained), ความเสร็จสมบูรณ์ (mature), ความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว (virile), ความนุ่มนวล (grace), ความจริงจัง (sober), ความมั่นคง (well-knit), การพรรณนา (prolix), ความรุ่มรวย (rich), ความมีชีวิตชีวา (exuberant) และความมีแบบแผน (classic)
[1] ไดเซตซ์ ที. สุสุกิ, จำนงค์ ทองประเสริฐ ผู้แปล, หน้า 26.

ในประเทศจีน เชื่อกันว่าการเขียนอักษรสามารถสะท้อนให้เห็นถึงความคิด อารมณ์ความรู้สึก บุคลิกภาพรวมถึงความสามารถของบุคคลออกมาได้ แม้ในปัจจุบันก็ยังมีการอ่านคนจากลายมืออยู่อย่างแพร่หลาย ตัวอักษรที่ถ่ายทอดบนแผ่นกระดาษหรือผืนผ้าไหม เปรียบเสมือนเครื่องบันทึกการทำงานของร่างกายและจิตใจอย่างละเอียดลออ

ในช่วงเวลาก่อนที่จะมีการค้นพบเทคโนโลยีด้านการพิมพ์ในประเทศจีน งานคัดลอกหนังสือด้วยลายมือมนุษย์ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการบันทึกเรื่องราวและความรู้ต่างๆ การคัดลอกนี้จะทำอย่างประณีต โดยทั่วไปจะร่างขอบของตัวอักษรทีละตัวทีละส่วนแล้วจึงระบายสีลงไปตามโครงร่างนั้น แต่นักคัดลอกที่มีความเชี่ยวชาญจะสามารถคัดลอกลักษณะอาการของตัวอักษรต้นแบบลงไปอย่างอิสระได้ โดยพยายามคงความคล้ายคลึงกับต้นฉบับเดิมให้มากที่สุด

งานเขียนต้นฉบับที่มีชื่อเสียงนั้น มักจะเสียหายไปเป็นจำนวนมากเมื่อผ่านกาลเวลาที่ยาวนานเพราะวัสดุที่ใช้ไม่คงทน เช่น กระดาษ หรือผ้าไหม ผลงานที่เหลือในปัจจุบันจึงเป็นการทำซ้ำเสียเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเทคโนโลยีด้านการพิมพ์ภาพถูกพัฒนาขึ้น จึงเริ่มมีการทำต้นแบบพิมพ์บนแผ่นหินหรือที่เรียกว่าเทคนิค ภาพพิมพ์หิน (engraving) เพื่ออนุรักษ์ผลงานชิ้นสำคัญในประวัติศาสตร์เอาไว้ศึกษาต่อไป ซึ่งผลงานทำซ้ำเหล่านั้นได้รับการยอมรับว่ามีคุณค่าเช่นเดียวกับต้นฉบับจริง
ภาพทำซ้ำเหล่านี้ได้เป็นต้นแบบในการศึกษาศิลปะการเขียนอักษร ผู้ศึกษาจะต้องฝึกคัดลอกผลงานชิ้นเอกของศิลปินที่มีชื่อเสียงในอดีต ทั้งจังหวะและน้ำหนักมือ คัดลอกไปเรื่อยๆจนเกิดความชำนาญ ก่อนที่จะฝึกฝนในขั้นสูงเพื่อพัฒนาในรูปแบบของตนเองต่อไป เช่นเดียวกับวิธีการหัดเขียนลายไทยในบ้านเราที่ต้องคัดลอกตามแบบของครูอาจารย์อย่างเข้มงวดเสียก่อน

ศิลปะการเขียนอักษรจีนนั้น สามารถจำแนกได้เป็นสองเรื่องสำคัญ ได้แก่ วิถีของฝีแปรง (the Brush Methods: 筆法 ) และวิถีของจิต (the Mental Methods: 心法 ) วิถีทั้งสองนี้ต่างสัมพันธ์กันอยู่ในกระบวนการสร้างสรรค์ ในวิถีของฝีแปรงเป็นการแสดงออกซึ่งทักษะความชำนาญจนสามารถเคลื่อนไหวมือ แขนและพู่กันไปอย่างอิสระ และในวิถีของจิตจะเกิดขึ้นจากสมาธิ กล่าวกันว่าหากฝึกฝนด้านใดด้านหนึ่งแล้ว ก็จะเกิดการพัฒนาในอีกด้านหนึ่งไปพร้อมๆกันด้วย

การเขียนอักษรในความหมายของการฝึกฝนจิต เป็นไปโดยมีเป้าหมายเพื่อแสดงออกถึงความงดงามภายในจิตวิญญาณซึ่งถูกหลอมรวมกับความสามารถและทักษะในการแสดงออก วิธีการฝึกฝนนี้มีความสำคัญเพราะเชื่อว่าสามารถยกระดับมนุษย์ในทุกๆด้าน และทำให้ชีวิตเกิดความสมดุล ลักษณะเช่นนี้จึงเป็นการเชื่อมโยงให้ศิลปะสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับความคิดความเชื่อทางศาสนาได้อย่างกลมกลืน

“ศิลปินย่อมใช้หนทางแห่งศิลปะและสุนทรียภาพในการเข้าถึงความจริง เข้าสู่เต๋า เข้าสู่เซน อันเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงบำรุงสรรพสิ่ง ศิลปินทางตะวันออกได้ใช้หนทางแห่งความงามในการเข้าถึงสิ่งนี้ เขาย่อมไปพ้นจากวิธีการ รูปทรง รูปแบบ และความเหมือนใดๆ เขาย่อมไปพ้นจากขอบเขตอันจำกัดรัดรึงของรูปทรงและรูปแบบ หากดำเนินเข้าสู่ต้นกำเนิดของมันโดยตรง” (พจนา จันทรสันติ, หน้า 254)

ที่กล่าวมาเป็นภาพกว้างๆเกี่ยวกับศิลปะการเขียนตัวอักษร ซึ่งมีความสำคัญมากในศิลปะประเพณีนิยมกลุ่มตะวันออกไกล สำหรับท่วงท่าของศิลปะแขนงนี้ ในบทความที่ชื่อ “เต๋ากับศิลปะการวาดภาพ”[1] อาจารย์พจนา จันทรสันติ ได้บรรยายถึงท่วงท่าเคลื่อนไหวของพู่กันได้อย่างงดงามในเชิงวรรณศิลป์ แม้จะยาวไปสักหน่อยแต่ผู้เขียนขออนุญาตยกมาและเป็นบทส่งท้ายบทความนี้ไปพร้อมกัน เพราะจะหาใครที่พรรณนาถึงอาการร่ายรำพู่กันได้งดงามจนเห็นภาพเช่นนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลยค่ะ

“เมื่อความงามได้ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อพลังการสร้างสรรค์ได้พุ่งทะยานขึ้นถึงขีดสูงสุด ศิลปินย่อมกลายเป็นผู้สร้างสรรค์เสียเอง ตัวเขาเองคือธรรมชาติผู้สร้างสรรค์ เขาย่อมจับพู่กันขึ้น ทั้งมือและพู่กันกลายเป็นสิ่งๆเดียวกันที่ไม่อาจแยกจากกันได้ พลังการสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ของจักรวาลล้วนรวมอยู่ที่ปลายพู่กัน พู่กันของเขายิ่งใหญ่กว่าขุนเขา สงบยิ่งกว่าพื้นดิน อ่อนโยนกว่าสายลม และใสกว่าธารน้ำ ปลายพู่กันตวัดลงบนแผ่นกระดาษและผืนไหมอย่างเต็มไปด้วยพลัง เคลื่อนที่ไปตามวิถีทางอันเร้นลับที่ถูกชักนำจากภายใน ปลายพู่กันจรดลงไปบนกระดาษ ลากไปอย่างช้าๆปลายขนแผ่ออกกดกระแทกลงไปเป็นเส้นหนาหนัก ลากไปอย่างช้าๆแต่หนักหน่วง พู่กันหยุดยั้ง ตวัดผ่านไปอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง เส้นขาด บางเบา ขนที่ปลายพู่กันคล้ายดั่งสิ่งไร้สสาร หุบเล็กแล้วแผ่ออก เป็นไปดังใจปรารถนา พู่กันเคลื่อนไปด้วยหลัก “ต่อเนื่องและชะลอหยุดยั้ง” บางครั้งเคลื่อนไหว ลางครั้งหยุด บางครั้งแผ่ออก บางครั้งหดเล็กเข้า บางครั้งหนา บางครั้งเบา บางครั้งมืดทึบ บางครั้งแผ่วจาง ลากจากซ้ายไปขวา จากขวามาซ้าย เลื่อนขึ้นไปสูง ดิ่งลงสู่เบื้องต่ำ เส้นแต่ละเส้นในภาพเปี่ยมไปด้วยพลัง เต็มไปด้วยอานุภาพแห่งความงามและการสร้างสรรค์ เส้นบางเส้นมีระดับหมึกอยู่สามระดับ ห้าระดับ เจ็ดระดับ บางเส้นขาด บางเส้นต่อเนื่อง บางเส้นนุ่ม บางเส้นแข็ง บ้างก็เป็นจุดแต้ม เป็นลีลาแท้ๆของธรรมชาติที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นเป็นความงามและมีชีวิต เส้นแต่ละเส้นทรงพลังและเปี่ยมล้นด้วยความงาม จุดแต่ละจุดยิ่งใหญ่เทียมเท่าจักรวาล การวาดรูปเป็นไปด้วยตัวเอง ดั่งสายน้ำไหล มิหยุดยั้งขาดตอน ลีลาของมันประสานสอดคล้องและกลมกลืนดังการหมุนของโลก ดังการเคลื่อนคล้อยของจักรวาล เป็นหนึ่งเดียวที่ปราศจากการแบ่งแยก ปลายพู่กันบางครั้งหดเล็กเท่าปลายเข็ม บางครั้งแผ่ขยายออกจนสุดโลก จิตใจที่ว่างของศิลปินได้เข้าถึงสัจธรรม ไปพ้นจากขอบเขตใดๆ กว้างขวางและปราศจากอุปสรรคใดๆ ผลงานของเขาจึงยิ่งใหญ่ ในขณะที่การสร้างสรรค์เข้มข้นถึงขีดสุด เขาได้เข้าถึงความเป็นอมตะและนิรันดร ไปพ้นจากขอบเขตของกาลเวลาและสถานที่ เป็นอกาลและอเทศะ สุนทรียภาพได้ปรากฏออกมาเป็นผลงานทางศิลปะอันสูงค่าและอมตะ สิ่งนี้ปราศจากวิธีการ หากดำเนินตามทางของเต๋าอันยิ่งใหญ่ ปราศจากผู้กระทำ ปราศจากผู้สร้าง เป็นธรรมชาตินั้นเองที่ได้สร้างสรรค์งานนี้ขึ้น นกก็ปรากฏขึ้นเป็นนก ดอกหญ้าก็เป็นดอกหญ้า บริสุทธิ์และสูงส่ง ดำรงอยู่ในสภาพเดิมแท้โดยไม่มีใครไปแตะต้องให้เป็นราคี ผลงานของเขาเป็นผลจากการเข้าถึงสัจธรรม…”(พจนา จันทรสันติ, หน้า 245-246)


บรรณานุกรม
จำนงค์ ทองประเสริฐ ผู้แปล, เซนกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น แปลจาก Zen and Japanese Culture
โดย Daisetz T. Suzuki, กรุงเทพ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2518.
พจนา จันทรสันติ ผู้แปลและเรียบเรียง, วิถีแห่งเต๋า, กรุงเทพ: เคล็ดไทย, 2537.

**ภาพและข้อมูลในบทความนำมาจากแหล่งข้อมูลดังต่อไปนี้ ซึ่งผู้เขียนขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วย ท่านที่สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้โดยตรงค่ะ
http://www.art-virtue.com/
http://www.asiawind.com/
http://www.chinapage.org/
http://www.chineseart.net/
[1] พจนา จันทรสันติ, วิถีแห่งเต๋า, หน้า 239-276.

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

chaotic osmosis obtain spakovskymay unlikely newer unsolicited unnaturally westpharma archival thread
lolikneri havaqatsu