GoogleBlog "Art & Philosophy : ศิลปะกับปรัชญา"

เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียนเสมือน (Virtual Classroom) เพื่อใช้เสริมการเรียนการสอน รายวิชา 437-222 สุนทรียศาสตร์ (Aesthetics)

จัดทำโดย อาจารย์อันธิฌา ทัศคร
ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

สุนทรียศาสตร์ ศาสตร์แห่งสุนทรียะ

ข้อมูลทางบรรณานุกรม:
อันธิฌา แสงชัย. "สุนทรียศาสตร์ ศาสตร์แห่งสุนทรียะ." นิตยสารไฟน์อาร์ต ปีที่ 1 ฉบับที่ 7 (กรกฎาคม 2547), หน้า 50-52.

เราคงคุ้นเคยกับคำว่า “สุนทรียศาสตร์” กันพอสมควร ในวงวิชาการศิลปะ อาจารย์หรือนักศึกษาศิลปะก็มักใช้คำคำนี้เมื่ออธิบายความคิดความรู้สึกบางอย่างในงานศิลปะอยู่เสมอ แต่คุณเคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่าบริบทของคำว่าสุนทรียศาสตร์และขอบเขตความหมายของคำๆนี้คืออะไรกันแน่ มันเหมือน แตกต่าง หรือเกี่ยวข้องกับศิลปะอย่างไร ในคราวนี้เราจึงจะมาค้นหาว่าคำนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรและควรจะใช้มันในความหมายใด

ในหนังสือ Contextualizing Aesthetics: From Plato to Lyotard ซึ่งเขียนโดย Gene H. Blocker และ Jennifer M. Jeffers ได้แบ่งการจัดระบบสาระสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ของสุนทรียศาสตร์แบบประเพณีไว้สามช่วงเวลาคือ ยุคก่อนสุนทรียศาสตร์ (Pre-aesthetic), ยุคสุนทรียศาสตร์ (Aesthetic) และยุคหลังสุนทรียศาสตร์ (Postaesthetic) ซึ่งยุคสมัยทั้งสามนั้นเทียบได้กับช่วงเวลาของ ก่อนสมัยใหม่ (Premodern), สมัยใหม่ (Modern), และหลังสมัยใหม่ (Postmodern) นั่นเอง ช่วงเวลา ก่อนสมัยใหม่ (Premodern period) ในปรัชญากรีกหรือปรัชญาคริสต์ ทฤษฎีสุนทรียศาสตร์กระจัดกระจายแทรกอยู่ในหัวข้อปรัชญาต่างๆ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับความดี ความรักและความสมบูรณ์ เป็นต้น ไม่ได้มีระบบในการตั้งคำถามหรือการสืบค้นหาคำตอบที่เป็นแนวทางเฉพาะของตัวเองอย่างอิสระ ปัญหาเกี่ยวกับความดี ความงาม และความจริงไม่ถูกแยกแยะจากกันให้ชัดเจนแต่มักจะอธิบายรวมกันในฐานของคุณค่าเชิงอุดมคติที่สูงส่งที่สุดอันหนึ่งคำว่า “สุนทรียศาสตร์” ในความหมายที่ใช้กันในปัจจุบันและทฤษฎีทางสุนทรียศาสตร์ถูกสร้างให้เป็นระบบเป็นครั้งแรกในต้นศตวรรษที่ 18 จากการแบ่งแยกขอบเขตการสืบค้นทางปรัชญาในอังกฤษและเยอรมัน ซึ่งเป็นความพยายามที่จะแบ่งแยกปัญหาเชิงปรัชญาว่าด้วยความงามออกจากปัญหาอื่นๆให้ชัดเจนเป็นครั้งแรก

เหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความสนใจอย่างจริงจังในสุนทรียศาสตร์และนำมาซึ่งการแบ่งแยกเป็นปรัชญาสาขาหนึ่งนั้น คือการพัฒนาก้าวหน้าของทฤษฎีศิลปะที่เกิดการจัดหมวดหมู่งานศิลปะเข้าไว้ในกลุ่มต่างๆประเภทเดียวกัน เช่น จิตรกรรม กวีนิพนธ์ ประติมากรรม ดนตรี และการเต้นรำ หรือเกิดการแบ่งแยกจัดประเภทศิลปะบริสุทธิ์ (Pure art) ขึ้น จึงกล่าวได้ว่าปัญหาทางสุนทรียศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องศิลปะและความงาม รวมถึงประสบการณ์ทางสุนทรียะหรือแนวทางในการรับรู้ศิลปะ การรับรู้ความงาม และแนวคิด "ศิลปะเพื่อศิลปะ" เองก็เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันในวัฒนธรรมสมัยใหม่นี้เอง

คำว่า "Aesthetics" ถูกใช้เป็นครั้งแรกในงานเขียนชื่อ Reflections of Poetry (1735) ของ อเล็กซานเดอร์ เบามว์การ์เทน (Alexander Baumgarten, 1714-1762) นักปรัชญาชาวเยอรมัน เบาว์มการ์เทนใช้คำนี้ในฐานะที่เป็นการศึกษาเชิงปรัชญาเกี่ยวกับความรู้ของมนุษย์ ซึ่งแยกออกจากทฤษฎีความรู้หรือญาณวิทยา (Epistemology หรือ Theory of knowledge เป็นสาขาหนึ่งของปรัชญาที่ศึกษาเกี่ยวกับความรู้ของมนุษย์ เช่น ความรู้คืออะไร มนุษย์รู้ได้อย่างไร และเราสามารถรู้ความจริงได้หรือไม่เป็นต้น) ซึ่งเป็นความรู้ในเชิงเหตุผล

สุนทรียศาสตร์ แยกตัวเองออกมาจากญาณวิทยาโดยพยายามศึกษาประสบการณ์ทางความรู้สึก ซึ่งเชื่อมโยงกับอารมณ์และจิตใจ และศึกษาความคิดนามธรรมด้วยวิธีการทางตรรกะ

ผลงานของเบาว์มการ์เทนส่งผลให้ทฤษฎีความรู้ที่เคยมีมาถูกแบ่งประเภท เขาสร้างแนวทางซึ่งเปิดโอกาสให้การวิเคราะห์ทางสุนทรียะศาสตร์โดยตัวของมันเองมีความเป็นไปได้มากขึ้น แนวคิดของเขาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือทำให้โลกแห่งประสบการณ์และการรับรู้ของมนุษย์ถูกแยกออกเป็นสองแนวทาง ซึ่งมีความแตกต่างกันตั้งแต่ระดับมูลฐาน คือแบ่งเป็นประสบการณ์เชิงตรรกะ (logical experience) ที่เป็นการรับรู้ผ่านกระบวนการทางเหตุผล และประสบการณ์เชิงสุนทรียะ (aesthetic experience) ที่เป็นการรับรู้ผ่านกระบวนการของอารมณ์ความรู้สึกประสบการณ์ทั้งสองแบบเป็นพื้นฐานที่ทำให้เกิดแนวคิดและการปฎิบัติต่อสิ่งต่างๆแตกต่างกันไป ประสบการณ์เชิงตรรกะ เป็นรูปแบบที่เรียบง่ายและพื้นฐานที่สุดที่เราพบได้ เช่น การคิดตามลำดับเหตุการหรือการเข้าใจเหตุผล ประสบการณ์ชนิดอื่นที่นอกเหนือไปจากประสบการณ์ทางสุนทรียะ ล้วนแต่มองสิ่งที่เป็นวัตถุหรือความหมายทางนามธรรมตรงที่เนื้อหาทางอรรถประโยชน์เป็นสำคัญทั้งสิ้น แต่ประสบการณ์ทางสุนทรียะไม่ได้มุ่งไปที่คุณประโยชน์ของวัตถุ การมองอย่างมีสุนทรียะนั้นเป็น “การรับรู้เพื่อการรับรู้” (perceive for perceiving's sake) หรือ “รับรู้สิ่งต่างๆอย่างที่มันเป็น” (perceiving for its own sake) ยกตัวอย่างง่ายๆในกรณีนี้ถ้านาย ก รับรู้และมีประสบการณ์กับที่ดินแปลงหนึ่งโดยคำนึงถึงราคาหรือการใช้ประโยชน์และนาย ข รับรู้และมีประสบการณ์กับที่ดินแปลงเดียวกันต่างออกไป เขามองไปยังที่ดินแปลงนั้นสัมผัสรับรู้ถึงความร่มรื่นความสงบหรือเพลิดเพลินกับคุณค่าที่มีในตัวของมันเอง กรณีนี้นาย ก จึงมีประสบการณ์เชิงตรรกะและนาย ข มีประสบการณ์เชิงสุนทรียะ

ปัญหาที่สำคัญที่สุดปัญหาหนึ่งของสุนทรียศาสตร์ได้รับผลจากการแบ่งแยกโลกแห่งการรับรู้ของมนุษย์คือปัญหาเกี่ยวกับความงาม “ความงาม” และ “ศิลปะ” ได้ถูกนิยามในกรอบของประสบการณ์ทางสุนทรียะซึ่งแยกออกไปจากประสบการณ์อย่างอื่น คุณสมบัติของความงาม และคุณสมบัติที่ทำให้วัตถุใด “เป็น” หรือ “ไม่เป็น” ศิลปะ จึงขึ้นอยู่กับการรับรู้ของมนุษย์ และไม่ใช่คุณสมบัติเชิงวัตถุวิสัยในตัววัตถุเองอย่างทฤษฎีก่อนหน้านี้หลายๆทฤษฎีได้อธิบายเอาไว้การแบ่งแยกประเภทของการรับรู้ของมนุษย์ นอกจากจะส่งผลดังที่กล่าวมา มันยังทำให้ปัญหาทางสุนทรียะศาสตร์มีท่าทีต่างออกไปอีกด้วย แนวโน้มของปัญหาจึงมีลักษณะมุ่งวิเคราะห์มโนทัศน์และการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างพิจารณาวัตถุทางสุนทรียะโดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับปัญหาอื่นอย่างศีลธรรม การเมืองหรือศาสนา ปัญหาของสุนทรียศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 จึงมีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับมโนทัศน์ของประสบการณ์ทางสุนทรียะ (aesthetic experience) และวัตถุทางสุนทรียะ (aesthetic object) เป็นประเด็นสำคัญ จึงสรุปได้อย่างสั้นๆว่า

สุนทรียศาสตร์ คือ ชื่อที่ใช้เรียกการศึกษาเชิงปรัชญา (การสืบค้นหรือวิทยาศาสตร์) ของศิลปะและความงามตามธรรมชาติ” (Gene H. Blocker)

การศึกษาทางสุนทรียศาสตร์ จึงครอบคลุมวัตถุต่างๆทั้งศิลปะและความงามตามธรรมชาติ รวมถึงกระบวนการรับรู้หรือประสบการทางสุนทรียะของมนุษย์ที่มีต่อวัตถุต่างๆเหล่านั้น โดยมีระเบียบแบบแผนในการศึกษาวิเคราะห์อย่างเป็นขั้นตอนเช่นเดียวกับการวิธีการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์

แล้วสุนทรียศาสตร์กับศิลปะเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

"ศิลปะ” เป็นศาสตร์ที่ศึกษากระบวนการสร้างสรรค์ที่เริ่มต้นตั้งแต่การคิด การรู้สึกตอบสนอง การถ่ายทอดผ่านสื่อ จนมีผลสำเร็จเป็นผลงานศิลปะ (works of art) ในการศึกษากระบวนการสร้างสรรค์ดังกล่าวมีทฤษฎีหรือหลักการเช่น ทฤษฎีเกี่ยวกับสี การวางองค์ประกอบ การใช้พื้นที่ว่าง และรวมถึงเทคนิควิธีการต่างๆ ในการสร้างสรรค์งานศิลปะ เช่น การใช้สีน้ำมัน การหล่อทองเหลือง การปั้นดิน การพิมพ์ภาพพิมพ์แกะไม้เป็นต้น งานศิลปะจึงเป็นผลผลิตที่ผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ ซึ่งผลผลิตนั้นมีลักษณะทางสุนทรียะ และต้องทำขึ้นจากสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกมีสำนึก (sentient beings) ซึ่งหมายถึงต้องทำขึ้นโดยมนุษย์เท่านั้นปัญหาของศาสตร์ทางศิลปะ จึงเป็นปัญหาในเชิงกระบวนการสร้างสรรค์ เช่น ศิลปินควรจะเลือกสื่อวัสดุชนิดใด หรือใช้รูปแบบทางศิลปะแบบใด จึงจะสามารถแสดงออกหรือถ่ายทอดความรู้สึก หรือเนื้อหาที่ต้องการได้ดีที่สุดทฤษฎีสุนทรียศาสตร์ สามารถเป็นแนวทางให้ปรัชญาศิลปะที่ศึกษาเกี่ยวกับความคิดว่าด้วยศิลปะหรือความคิดที่ปรากฏอยู่ในงานศิลปะได้ ในทำนองเดียวกันปัญหาทางสุนทรียศาสตร์หลายๆประเด็นก็เป็นปัญหาของปรัชญาศิลปะเช่นกัน ปัญหาของปรัชญาศิลปะไม่อาจแยกออกจากเนื้อหาของสุนทรียศาสตร์ได้ ปรัชญาศิลปะจึงเป็นส่วนหนึ่งของสุนทรียศาสตร์นั่นเอง อย่างไรก็ตามปรัชญาศิลปะไม่สนใจปัญหาบางประการของสุนทรียศาสตร์ เช่น วัตถุตามธรรมชาติวัตถุใดที่เป็นหรือไม่เป็นวัตถุทางสุนทรียะ คือปัญหาสำคัญอันหนึ่งทางสุนทรียศาสตร์แต่อยู่นอกเหนือขอบเขตของปรัชญาศิลปะ เพราะปรัชญาศิลปะไม่พยายามอธิบายวัตถุที่ไม่ใช่ศิลปะ ข้อจำกัดของปรัชญาศิลปะในแง่นี้เป็นข้อจำกัดของขอบเขตการศึกษาซึ่งนักสุนทรียศาสตร์อธิบายถึงบริบทโดยทั่วไปของวิชานี้ในทำนองเดียวกันว่า “ปรัชญาศิลปะมีขอบเขตแคบกว่าสุนทรียศาสตร์ เนื่องจากปรัชญาศิลปะมุ่งพิจารณาเฉพาะมโนทัศน์และปัญหาที่เกิดขึ้นในการเชื่อมต่อของผลงานศิลปะกับสิ่งอื่นๆ…การแสดงออกเชิงศิลปะคืออะไร มีความจริงในผลงานศิลปะหรือไม่ สัญลักษณ์เชิงศิลปะคืออะไร สิ่งที่ผลงานศิลปะทำนั้นหมายถึงอะไร มีนิยามทั่วไปของศิลปะหรือไม่ อะไรทำให้งานศิลปะนั้นดี คำถามทั้งหมดนี้เป็นคำถามของสุนทรียศาสตร์ มีพื้นที่ของมันเองในขอบข่ายของศิลปะ และไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อเรามุ่งพิจารณาวัตถุทางสุนทรียะอื่นๆนอกเหนือจากงานศิลปะ” (John Hospers)

กล่าวได้ว่าปรัชญาศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาสุนทรียศาสตร์ แต่มีขอบเขตในการศึกษาที่แคบกว่า และมุ่งสนใจวิเคราะห์เกี่ยวกับศิลปะ แต่มิได้ครอบคลุมถึงสิ่งที่ไม่ใช่ศิลปะ

และทั้งสุนทรียศาสตร์และปรัชญาศิลปะ ก็เป็นคำตอบสำเร็จรูปให้แก่มโนทัศน์ทางศิลปกรรมศาสตร์ แต่ทั้งสองก็ไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาเชิงกระบวนการสร้างสรรค์ทางศิลปะ เช่น การค้นคว้าหาเทคนิคในการวาด การปั้น การพิมพ์ ที่แปลกใหม่สร้างสรรค์ หรือวิธีการที่สามารถสร้างผลงานศิลปะให้ตอบสนองหรือสื่อสารความคิดความรู้สึกของศิลปินออกมาได้ดีที่สุด ซึ่งเป็นปัญหาหลักของศิลปกรรมศาสตร์ แต่สำหรับสุนทรียศาสตร์กลับสนใจเทคนิควิธีการเหล่านั้นในลักษณะที่ว่ามันทำให้เกิดผลตอบสนองที่เรียกว่า “การมีประสบการณ์ทางสุนทรียะ” และ “ประสบการณ์ทางสุนทรียะเกิดขึ้นได้อย่างไร” เท่านั้น

การวิพากษ์เกี่ยวกับปัญหาเรื่อง “ความงาม” เป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะทำให้เห็นความเกี่ยวเนื่องและความแตกต่างได้อย่างชัดเจน ปัญหาเรื่องความงามในทางสุนทรียศาสตร์นั้นความงามเป็นลักษณะอย่างหนึ่งที่สามารถให้คำอธิบายอย่างเป็นสากลได้ เป็นไปได้ที่จะมีอยู่ในสิ่งทุกสิ่ง ทั้งที่เป็นรูปธรรม นามธรรม หรือสิ่งตามธรรมชาติและสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์ คำตอบเกี่ยวกับความงามในทางสุนทรียศาสตร์จึงเป็นคำตอบที่ถือเป็นมาตรฐานในการตอบปัญหาของความงามทั้งหมดส่วนปัญหาความงามในปรัชญาศิลปะเป็นการค้นหานิยามของความงามในทางศิลปะ เช่น ความงามเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นต่อการเป็นศิลปะหรือไม่ ถ้าศิลปะอาจจะงามหรือไม่งามก็ได้ ความงามจึงไม่ใช่เกณฑ์ที่ดีที่สุดในการตัดสินความเป็นศิลปะ ต้องมีเกณฑ์อื่นที่ดีกว่า และคำถามนี้สำคัญมากสำหรับศิลปะเพราะนำมาซึ่งความสงสัยที่ว่าเกณฑ์อันนั้นคืออะไร และหากไม่มีเกณฑ์ใดเลยที่เหมาะสม เราจะสามารถตัดสินลักษณะของศิลปะได้หรือไม่ ถ้าความงามเป็นคุณลักษณะจำเป็นที่ต้องมีอยู่ในศิลปะ ผลงานชิ้นใดที่ถูกสร้างขึ้นโดยปราศจากความงาม เราก็ไม่อาจกล่าวว่ามันเป็นศิลปะได้ ดังนั้นศิลปะจึงเป็นวัตถุที่มีความงามซึ่งถูกสร้างโดยมนุษย์ แล้วศิลปะหรือวัตถุที่งามนั้นจะอธิบายว่าอย่างไร คำตอบของความงามในปรัชญาศิลปะดังที่กล่าวมา เป็นคำตอบที่ค้นหาความงามซึ่งเกี่ยวข้องกับศิลปะ มุ่งอธิบายในขอบเขตของศิลปะเป็นสำคัญ บางคำตอบที่ได้ อาจจะไม่สามารถนำไปอธิบายสิ่งที่ไม่ใช่ศิลปะเช่นวัตถุในธรรมชาติได้และสำหรับ “ศิลปะ” นั้นรวมเอาปัญหาทางมโนทัศน์และปัญหาทางกระบวนการเข้าด้วยกัน สนใจในปัญหาเชิงกระบวนการและพยายามแก้ปัญหาในขอบเขตของการสร้างสรรค์ศิลปะเป็นสำคัญ มโนทัศน์ทางศิลปกรรมจึงเป็นการหยิบยกคำตอบที่ได้จากปรัชญาศิลปะมาเป็นแนวทางทั้งสิ้น ความงามสำหรับศิลปกรรมศาสตร์จึงเป็นความคิดสำเร็จรูปที่ได้จากสุนทรียศาสตร์และปรัชญาศิลปะ ซึ่งนำเอาความคิดนั้นมาเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์และคำอธิบายที่มั่นคงที่สามารถอ้างถึงได้สำหรับกระบวนการและเป้าหมายของศิลปะนั่นเอง

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุนมากนะคับ